รับมือมาตรการทางการค้า พาณิชย์จ่อเปิดไต่สวน CVD

การค้าเสรี ส่งออก

ไทยเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลก สัญญาณคู่ค้าแห่ใช้มาตรการการค้า ทั้ง AD-CVD-SG พุ่ง 4.7 พันรายการ “กรมการค้าต่างประเทศ” รับลูกจุรินทร์ ประสาน สนค.วิเคราะห์แนวทางใช้มาตรการป้องอุตสาหกรรมทั้งซัพพลายเชน ไม่ให้กระทบอุตสาหกรรมปลายน้ำตั้งเป้าปีนี้เริ่มไต่สวนมาตรการตอบโต้การอุดหนุน-หลบเลี่ยงภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาเริ่มปรับฟื้นตัวขึ้น และมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคทำให้มีการใช้มาตรการทางการค้าทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD)

มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) และมาตรการปกป้อง (SG) มากขึ้น เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งโดยรวมสถานะการใช้มาตรการทั่วโลกมีจำนวน 4,798 เคส (ตามตาราง)

โดยคาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนก่อนหน้านี้ที่ยังคงดำเนินต่อ โดยหลังจากเปลี่ยนประธานาธิบดีสหรัฐนายโจ ไบเดน มารับตำแหน่งแทนทำให้สหรัฐปรับมาตรการจากที่เคยใช้ มาตรา 232 และมาตรา 301 ในสมัยนายโดนัลด์ ทรัมป์

ได้หมดอายุลงทำให้มีการนำเงื่อนไขและข้อกำหนดต่าง ๆ ภายใต้ความตกลงมาใช้ในการไต่สวนมากขึ้น เช่น การเปิดไต่สวนด้วยตนเอง การไต่สวนแบบเร่งด่วน การใช้มาตรการฉุกเฉิน การพิจารณาสถานการณ์ตลาดเฉพาะ และการผลิตในประเทศที่ 3 ซึ่งทำให้ประเทศคู่ค้ากับสหรัฐต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ล่าสุด นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อปี 2564 ไทยมีการใช้มาตรการ AD สินค้า 22 รายการ จาก 22 ประเทศ

และอยู่ระหว่างการไต่สวนสินค้า 3 รายการ จาก 3 ประเทศ แต่ยังไม่มีการใช้มาตรการ CVD และมาตรการปกป้อง SG เลย ขณะที่ไทยถูกใช้มาตรการเอดีกับสินค้า 79 รายการ จาก 17 ประเทศ และ CVD/SG อีก 19 มาตรการ

“ปัจจุบันประเทศไทยเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดผู้ประกอบการสินค้าที่ส่งออกมาไทย แต่กรมยังไม่เคยดำเนินการCVD มาก่อน จึงมีเป้าหมายว่าในปี 2565 กรมจะต้องมีการเริ่มไต่สวนในเรื่องของ CVD ว่าตัวไหนมีการร้องและมีการจำหน่ายในราคาที่ต่ำ เนื่องจากเกิดจากการอุดหนุนโดยรัฐหรือมีการลดหย่อนภาษีเงินได้

ลดหย่อนภาษีนำเข้า ลดหย่อน ค่าน้ำ ค่าไฟ มีการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด ให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก ซึ่งมีความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุน ในเรื่องนี้ควรที่จะเข้าไปดู

อย่างน้อยในปีนี้จำเป็นจะต้องมีการพิจารณาหรือไต่สวนในเรื่องนี้ การพิจารณาเรื่องดังกล่าวจะต้องส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มมีการติดต่อสอบถามถึงแนวทางการเตรียมใช้มาตรการเหล่านี้”

ขณะเดียวกันมาตรการปกป้องการหลบเลี่ยงภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (anti circumvention หรือ AC)จากพฤติกรรมการหลบเลี่ยงภาษี AD โดยการปรับสูตรส่วนผสมหรือวิธีการต่าง ๆ

เพื่อเปลี่ยนพิกัดการส่งออก โดยใช้การส่งผ่านจากประเทศอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบจาก AD ก่อนที่จะส่งมาไทย ซึ่งประเด็นนี้กรมเพิ่งจะมี พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเมื่อปี 2562 แต่ยังไม่เคยใช้มาตรการดังกล่าว ขณะนี้มีผู้ประกอบการสอบถามและร้องเรียนเข้ามา แต่ยังไม่ได้เปิดพิจารณาหรือไต่สวนแต่อย่างใด

“ตอนนี้มีเอกชนเตรียมยื่นร้องการใช้วิธีการเลี่ยงภาษี หรือ AC เช่นกัน ทางกรมได้แนะนำเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลและเอกสาร ว่าต้องดำเนินการอย่างไร หากยื่นคำร้องมาจะเป็นตัวอย่างให้กับผู้ประกอบการที่มีความเดือดร้อน

ว่าสามารถเข้ามาร้องขอที่กรมให้ดำเนินการไต่สวนโดยใช้กฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อพิจารณาตรวจสอบและพบว่ามีการหลบเลี่ยงจริง ก็จะมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในสินค้าดังกล่าว เพื่อช่วยอุตสาหกรรมภายในประเทศ”

นายพิทักษ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม นโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ในเรื่องของการใช้มาตรการต่าง ๆ ให้สร้างความสมดุลกับทุกฝ่าย

โดยจะต้องพิจารณาว่าอุตสาหกรรมภายในประเทศของไทยที่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยาทางการค้าเหล่านี้ ได้มีการปรับตัวพัฒนาตัวเองหรือไม่ เพราะการใช้มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ควรเป็นมาตรการที่ใช้ชั่วคราว เฉพาะเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการไทยได้พัฒนาตัวเอง

“เอดีไม่ควรที่จะใช้พร่ำเพรื่อ เพราะมองว่าหากมีการใช้มาตรการขึ้นมาหรือมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น อาจจะไม่ได้สร้างประโยชน์ตลอดซัพพลายเชน ซึ่งยังมีอุตสาหกรรมกลางน้ำอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีเพราะต้องการที่จะช่วยอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ได้รับผลกระทบ

ต้องมองตลอด supply chain จะต้องมีการจับมือและพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งกรมจะต้องเข้าไปช่วยและติดตามในเรื่องนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ด้วยกันได้ตลอดซัพพลายเชน นอกจากนี้ทางกรมยังให้หน่วยงานอย่างสำนักงานยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. ทำการวิเคราะห์ผลกระทบการใช้มาตรการด้วย”