สุพัฒนพงษ์ตอบทุกประเด็น มาตรการรับมือวิกฤตราคาพลังงาน 11 มี.ค.

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ (1)

“สุพัฒนพงษ์” พร้อมตอบทุกประเด็นมาตรการรับมือวิกฤตราคาพลังงาน 11 มี.ค. ที่กระทรวง แจงทุกแผนพลังงานทั้งระบบ จ่อชง ครม.ปลดล็อกเพดานกู้เงินของสำนักงานกองทุนน้ำม้นเชื้อเพลิง 40,000 ล้านบาท สัปดาห์หน้า

วันที่ 9 มีนาคม 2565 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่า นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบและแสดงความห่วงใยต่อวิกฤตราคาพลังงาน โดยขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงานที่ไม่สามารถจะประเมินได้ว่าวิกฤตยูเครน-รัสเซีย จะยืดเยื้อไปนานแค่ไหน

ดังนั้น กระทรวงพลังงานได้ศึกษาแนวทางช่วยเหลือไว้แล้วทุกกรณี โดยหากราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 100-130 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะทำอย่างไร ถ้าอยู่ที่ 131-150 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ต้องทำอย่างไร และถ้าราคาน้ำมันดิบเกินระดับ 150 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลขึ้นไป ต้องทำอย่างไร

“ต้องรอความชัดเจนในการแถลงมาตรการรับมือวิกฤตราคาพลังงานที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมาชี้แจงพร้อมเพรียงกันอีกครั้งในวันที่ 11 มี.ค.นี้” นายกุลิศกล่าว

สำหรับมาตรการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือ (แอลพีจี) 45 บาท/3 เดือน/ถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) ให้อยู่ที่ 318 บาท/ถัง 15 กก. ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2565 กระทรวงพลังงานมีแผนปรับขึ้น 15 บาท/ถัง 15 กก. มาอยู่ที่ 333 บาท/ถัง 15 กก. เนื่องจากราคาจริง ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 435 บาท/ถัง 15 กก. ซึ่งเป็นระดับที่สูงมากจนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถแบกรับภาระได้ทั้งหมด

ส่วนที่กระทรวงพลังงานจะอุดหนุนเพิ่มเติมอีก 55 บาท/ถัง 15 กก. รวมเป็น 100 บาท/ถัง 15 กก. อยู่ระหว่างหาแนวทางช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานเตรียมนำเสนอเรื่องการปลดล็อกเพดานกู้เงินของสำนักงานกองทุนน้ำม้นเชื้อเพลิง จากที่กำหนดเพดานกู้เงินไว้ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อให้กองทุนมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการบริหารจัดการ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกครั้ง รองรับสถานการณ์ฉุกเฉินภายใต้วิกฤตพลังงาน

“แม้จะปลดล็อกเพดานกู้เงินออกไป แต่เราก็ยังต้องคำนึงถึงวินัยการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ ดังนั้นในใจเราก็ยังมีเพดานอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท เพราะถ้ากู้เกินกว่านั้น กองทุนก็ไม่ไหว จะไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ เหมือนกัน” นายกุลิศกล่าว

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่าปกติใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติวันละ 10 ล้านลิตร/วัน คิดเป็น 300 ล้านลิตร/เดือน

ซึ่งการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลงเหลือ 0% นาน 6 เดือน สิ้นสุด 15 ก.ย. 2565 จะประหยัดเงินได้ 4 บาท คิดเป็นเงินประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท ทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลงได้ประมาณ 6 สตางค์/หน่วย

“การลดหย่อนภาษีลงเหลือ 0% จะนำมาใช้คำนวณต้นทุนค่าไฟทันการพิจารณางวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกว่าจะสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับใด ถ้าราคาน้ำมันดิบขึ้นไปแตะ 300 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล การลดภาษีส่วนนี้ก็ไม่มีผลช่วยลดต้นทุนค่าไฟ” นายคมกฤชกล่าว