บทเรียนปาล์มปี’60 สู่ปี’61

คอลัมน์ DATA

แม้ว่าไทยจะมี “ยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมัน” แต่ไทยยังต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทุกปี โดยในปี 2561 ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ รายงานต่อคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ตั้งแต่ต้นปีว่าคาดการณ์ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันปี 2560 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2559

ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นไม่มากนัก จึงควรเตรียมมาตรการรับมือปัญหา “ราคาน้ำมันปาล์มดิ่ง” ซึ่งเป็นไปตามคาด ในเดือนตุลาคมสต๊อกน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น 520,000 ตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าปริมาณสต๊อกเพื่อความมั่นคงโดยปกติมีปริมาณ 230,000-250,000 ตัน กดราคาผลปาล์มสดลดลงเหลือ กก.ละ 2.40-2.60 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี เทียบกับต้นทุนของเกษตรกรที่ กก.ละ 3.10-3.80 บาท

สะท้อนถึงการบริหารจัดการสต๊อกที่ผิดพลาด ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาเดือดร้อน ขาดทุน กระทั่ง ล่าสุดที่ประชุม กนป. เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 60 มีมติให้ผู้ส่งออก โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเร่งส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ และกระทรวงพลังงานประสานผู้ค้าน้ำมันเพิ่มการรับซื้อน้ำมันปาล์มไปผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล (บี 7) เพื่อลดสต๊อกน้ำมันปาล์มส่วนเกินออกไป ทั้งยังให้กระทรวงพาณิชย์เร่งประสานกับฝ่ายความมั่นคง (ทหาร) กระทรวงการคลัง เพิ่มความเข้มงวดการลักลอบนำเข้า

ผ่านไปไม่ถึง 1 เดือน ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ว่าในปี 2561 ผลผลิตปาล์มน้ำมันจะมีปริมาณ 14.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 9.0% จากปี 2560 เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้นในทุกภาค จากต้นปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่เมื่อปี 2558 ที่เริ่มให้ผลในปีนี้ ประกอบกับปริมาณน้ำฝนมาก จึงอาจส่งผลให้จำนวนทะลายปาล์มเพิ่มขึ้น ประเด็นนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาปาล์มที่อาจจะซ้ำรอยในปีนี้อีกครั้ง