เฉลิมชัย กำชับแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน

เฉลิมชัย เผยแผนจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนทั้งประเทศให้เพียงพอ เร่งพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำสำรองเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ

วันที่ 14 มีนาคม 2565 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังมอบนโยบายการบริหารจัดการน้ำ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ว่า ตามที่กรมชลประทาน มีแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2564/65 (ทั้งประเทศ)

ซึ่งมีน้ำต้นทุนฤดูแล้ง รวม 37,857 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น แผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 (พ.ย. 64 – เม.ย. 65) รวม 22,280 ล้าน ลบ.ม. และการสำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2565 (พ.ค. – ก.ค. 65) รวม 15,577 ล้าน ลบ.ม.

ซึ่งการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 (พ.ย. 64 – เม.ย. 65) นั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มี.ค. 65) มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 51,054 ล้าน ลบ.ม. (67%) และมีปริมาณน้ำใช้การในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวม 26,961 ล้าน ลบ.ม. (51%) ซึ่งตามปริมาณดังกล่าวจะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ

ได้แก่ 1) จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง 2) จัดสรรน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง 3) การสำรองน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝน (เพื่ออุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเดือน พ.ค. – ก.ค.) 4) จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร และ 5) จัดสรรน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 30 เมษายน 2565 มีแผนจัดสรรน้ำรวม 7,744 ล้าน ลบ.ม. โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มี.ค. 65) มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 11,840 ล้าน ลบ.ม. (48%) และมีปริมาณน้ำใช้การ 5,144 ล้าน ลบ.ม. (28%)

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำให้มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และสำรวจ ตรวจสอบ พื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ รวมถึงสร้างการรับรู้ต่อเกษตรกรและผู้ใช้น้ำ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

ด้านนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังคงเดินหน้าโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกร เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสถาบันเกษตรกรสร้างแหล่งน้ำในไร่นาเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่สำหรับทำการเกษตร เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้สามารถทำการเกษตรได้ต่อเนื่องลดการพึ่งพิงน้ำฝนเพียงอย่างเดียวส่งผลให้ครัวเรือนสามารถมีรายได้และมีความมั่นคงในอาชีพทำเกษตรมากขึ้น

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับการตอบรับจากสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศเป็นอย่างมาก ประกอบกับสมาชิกที่ขอสนับสนุนเงินทุน ล้วนมีความซื่อสัตย์ต่อการชำระคืนเงินกู้ที่รัฐบาลช่วยเหลือผ่านกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรโดยวัดผลจากการชำระเงินคืนตรงเวลากับที่โครงการระบุไว้ว่าภายใน 5 ปี

อย่างไรก็ตามเกษตรกรจำนวนมากยังต้องการแหล่งน้ำ กรมจึงได้เสนอโครงการระยะที่ 2 ผ่าน คณะรัฐมนตรี ใช้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อสนับสนุนสมาชิกไปใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อความอยู่ดีกินดีเพิ่มขึ้น

“เงินกู้ที่ได้กรมจะจัดสรรให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร นำไปปล่อยกู้แก่สมาชิกแบบปลอดดอกเบี้ย โดยกำหนดให้สมาชิกกู้ได้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท สำหรับขุดสระน้ำหรือบ่อบาดาล เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากที่ผ่านมา หลายพื้นที่ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำไม่เพียงพอทำการเกษตร”