จดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ก.พ. หดตัว 1% ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

กรมพัฒฯ เผยตัวเลขจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ ก.พ. 2565 มีจำนวน 7,211 ราย ลดลง 1% ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน แต่ทั้งนี้ แนวโน้มการการจดทะเบียนยังโตต่อเนื่อง ผลจากการกระตุ้นภาครัฐ มั่นใจทั้งปีจดทะเบียนธุรกิจอยู่ที่ 75,000 ราย

วันที่ 25 มีนาคม 2565 นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยผลการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบว่า มีจำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ 7,211 ราย ลดลง 1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีจำนวน 7,265 ราย และเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 และลดลง 10% เมื่อเทียบเดือนที่ผ่านมา

โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 19,376.01 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ หากดูแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 7 ปีที่ผ่านมา สำหรับประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 766 ราย คิดเป็น 11% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 333 ราย คิดเป็น 5% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 222 ราย คิดเป็น 3%

ขณะที่ จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 669 ราย เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 583 ราย และลดลง 33% เมื่อเทียบเดือนที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 25,643.99 ล้านบาท ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 60 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 36 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 20 ราย คิดเป็น 3%

ทั้งนี้ ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวน 822,541 ราย มูลค่าทุน 19.65 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 199,585 ราย คิดเป็น 24.26% บริษัทจำกัด จำนวน 621,635 ราย คิดเป็น 75.58% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,321 ราย คิดเป็น 0.16%

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่มีผลต่อการจดทะเบียนธุรกิจ คือ มาตรการการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ มาตรการกระตุ้น การใช้จ่ายของรัฐบาล การเปิดประเทศ แบบ Test & Go รวมทั้งสถานการณ์การส่งออกที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการอ่อนค่าของค่าเงินบาทที่สร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการในการจัดตั้งธุรกิจ

นายจิตรกร กล่าวอีกว่า สำหรับการจดทะเบียนธุรกิจในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 คาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 สายพันธุ์โอมิครอน ยังคงสร้างความกังวลให้ผู้ประกอบการในประเทศ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตไม่สูงเทียบเท่าสายพันธุ์ก่อนหน้า ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการผ่อนคลายความกังวลลงได้ โดยรัฐบาลได้ปรับแนวทางการบริหารจัดการโรคโควิด- 19 ให้ผู้ป่วยสีเขียว ที่มีอาการไม่รุนแรงจะได้รับการรักษาดูแลแบบ “เจอ แจก จบ” รับยากลับบ้านได้ในวันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ยังมีความเสี่ยงเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันทำให้ต้นทุนของราคาสินค้าสูงขึ้น จึงเป็นอีกปัจจัยที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นกรมพัฒนาธุรกิจการค้าคาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 อยู่ประมาณที่ 40,000 – 42,000 ราย และตลอดทั้งปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 70,000 – 75,000 ราย

ส่วนการลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว เดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 44 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 16 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 28 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,781 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 12 ราย เงินลงทุน 2,949 ล้านบาทรองลงมา ได้แก่ สิงค์โปร์ จำนวน 7 ราย เงินลงทุน 1,724 ล้านบาท และฮ่องกง จำนวน 4 ราย เงินลงทุน 308 ล้านบาท