รัฐบาลแถลงใหญ่ เทหมดหน้าตัก 8 หมื่นล้าน เยียวยา 40 ล้านคน 

ทีม ครม. เศรษฐกิจแถลงใหญ่ มาตรการเยียวยาผลกระทบจากสงครามล่าสุด คนไทย 40 ล้านชีวิต ใช้งบประมาณ 8 หมื่นล้าน 

วันที่ 25 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหัวหน้าหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ร่วมแถลงรายละเอียดมาตรการการแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน–รัสเซีย

ทั้งนี้ สำหรับมาตรการเพื่อช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อประชาชนในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน มีรายละเอียดดังนี้ 

ผู้ใช้น้ำมันดีเซล ตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาท/ลิตร ระยะเวลาเดือนเมษายนรัฐช่วยส่วนที่ราคาเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่งในเดือนเมษายน 16,800 ล้านบาท, เดือนพฤษภาคม 8,340 ล้านบาท, เดือนมิถุนายน 8,000 ล้านบาท (อัตราชดเชย 8 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซล 130 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล)

ระยะเวลา 3 เดือน เมษายนตรึงที่ 30 บาท เดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน รัฐช่วยราคาส่วนที่เพิ่ม 50% ใช้แหล่งงบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง/ลดภาษีสรรพสามิต/เงินอุดหนุน

ผู้ใช้ก๊าซหุงต้ม กำหนดราคาในเดือนเมษายน 333 บาท/ถัง 15 กก. พฤษภาคม 348 บาท มิถุนายน 363บาท/ถัง 15 กก. วงเงินในเดือนเมษายน 2,400 ล้านบาท, พฤษภาคม 2,130 ล้านบาท และมิถุนายน 1,850 ล้านบาท ใช้แหล่งงบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มอีก 55 บาท/3 เดือน รวมเป็น 100 บาท/3 เดือน วงเงินที่ 200 ล้านบาท ระยะเวลา 3 เดือน ใช้แหล่งงบประมาณจากงบฯกลางสำนักงบประมาณ

ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท ระยะเวลา 3 เดือน วงเงิน 1.65 ล้านบาท ใช้แหล่งงบประมาณจาก ปตท. 

ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท ระยะเวลา 3 เดือน วงเงิน 120 ล้านบาท ใช้แหล่งงบประมาณ จากงบฯกลางสำนักงบประมาณ

ผู้ใช้ก๊าซ NGV ทั่วไป คงราคาขายปลีก NGV ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม และผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่ลงทะเบียนภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน คงเดิม ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินรวม 1,761 ล้านบาท ใช้แหล่งงบประมาณจาก ปตท. 

ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ส่วนลดค่า Ft (ใช้ไฟฟ้าในราคางวดเดือนมกราคม-เมษายน) ระยะเวลา 3 เดือน วงเงิน 2,000-3,500 ล้านบาท ใช้แหล่งงบประมาณจากงบฯกลางสำนักงบประมาณ

ผู้ประกันตน มาตรา 33 ลดอัตราเงินสมทบ ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน มาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือฝ่ายละร้อยละ 1 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนมาตรา 39 ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จากเดิมร้อยละ 9 ของฐานค่าจ้าง 4,800 บาท (เดือนละ 432 บาท) เหลือร้อยละ 1.90 ของค่าจ้าง 4,800 บาท (เดือนละ 91 บาท) ระยะเวลา 3 เดือน พฤษภาคม-กรกฎาคม วงเงินรวม 33,857 ล้านบาท ใช้แหล่งงบประมาณจากกองทุนประกันสังคม

ผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 : 70 บาท ลดเหลือ 42 บาท, ทางเลือกที่ 2 : 100 บาท ลดเหลือ 60 บาท และทางเลือกที่ 3 : 300 บาท ลดเหลือ 180 บาท งวดค่าจ้างเดือนกุมภาพันธ์–กรกฎาคม (ระยะเวลา 6 เดือน) รายรับจากเงินสมทบกองทุนประกันสังคมลดลง 1,367.61 ล้านบาท คาดว่า 3 เดือนลดภาระค่าครองชีพ 84-360 บาท 

ผู้ประกันตนมาตรา 40 กลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซ LPG ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 55 บาท/คน/เดือน รวมเป็นเงิน 100 บาท/คน/เดือน ระยะเวลา 3 เดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม คาดว่าลดภาระค่าก๊าซหุงต้ม 165 บาท

ผู้ประกันตนมาตรา 40 กลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้าง รถจักรยานยนต์รับจ้างขึ้นทะเบียนกรมการขนส่งทางบกจํานวน 157,000 ราย ลดภาระค่าน้ำมัน 250 บาท/เดือน 3 เดือน คาดว่าลดภาระค่าน้ำมัน 750 บาท 

สำหรับมาตรการการช่วยเหลือครั้งนี้ มีประชาชนที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน เป็นกลุ่มครัวเรือนทั่วไปกลุ่มนายจ้างและผู้ประกันตนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มขนส่งโดยสารสาธารณะ

40 ล้านคนมีใครบ้าง

  1. ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย 20 ล้านครัวเรือน
    •  ลดค่า Ft ลง 22 สตางค์ ช่วงเดือนพฤษภาคม–สิงหาคม
  2. นายจ้างและผู้ประกันตนในมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน
    • ลดอัตราเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 งวดค่าจ้าง เดือนพฤษภาคม–กรกฎาคม 
  3. ผู้ประกันตนในมาตรา 40 จำนวน 10.7 ล้านคน
    • ลดอัตราเงินสมทบเหลือ 42–180 บาท/เดือน
  4. ผู้ประกันตนในมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน 
    • ลดอัตราเงินสมทบจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9 งวดค่าจ้าง เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 
  5. ผู้ใช้ก๊าซหุงต้มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3,600,000 คน
    • เพิ่มวงเงินช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มเป็น 100 บาท/3 เดือน เป็นเวลา 3 เดือน
  6. ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5,500 คน
    • ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
  7. ผู้ใช้ก๊าซ NGV ทั่วไป
    • คงราคาขายปลีก NGV ที่ 15.59 บาท/กก. เป็นเวลา 3 เดือน
  8. ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง จำนวน 157,000 คน
    • ส่วนลดค่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 250 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน
  9. ผู้ขับรถแท็กซี่ที่อยู่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน 1.7 หมื่นคน 
    • ได้ซื้อก๊าซในราคา 13.62 บาท/กก. ในวงเงิน 10,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน

งบ 8 หมื่นล้าน จาก 4 แหล่งเงิน

  1. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (เงินกู้) วงเงิน 39,520 ล้านบาท 
    • ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตร
    • ทยอยขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม
  2. กองทุนประกันสังคม (เงินสมทบ) วงเงิน 35,224 ล้านบาท 
    • นายจ้างและผู้ประกันตนในมาตรา 33
    • ผู้ประกันตนในมาตรา 39 และ 40
  3. สำนักงบประมาณ (งบฯกลาง) วงเงิน 3,740 ล้านบาท 
    • ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย
    • ผู้ใช้ก๊าซหุงต้มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
    • ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง
  4. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วงเงิน 1,763 ล้านบาท
    • ผู้ขับรถแท็กซี่ที่อยู่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน
    • คงราคาขายปลีก NGV ที่ 15.59 บําท/กก.
    • ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

รวมประมาณ 80,247 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงผลกระทบและแนวทางมาตรการรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ถึงผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจากการประเมินในเบื้องต้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 2 ช่องทางหลัก

  1. ผลกระทบต่อเงินเฟ้อ โดยกรณีที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 100 เหรียญ/บาร์เรล คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 5.0
  2. ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากแนวโน้มการลดลงของนักท่องเที่ยวรัสเซีย-ยุโรป ซึ่งถือเป็นกลุ่มหลักที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย

ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบทั้งจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและผลกระทบต่อการท่องเที่ยว จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม แต่ยังเชื่อมั่นว่าจะยังสามารถขยายตัวอย่างน้อยได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0

แนวทางมาตรการรองรับผลกระทบ

  1. บริหารจัดการราคาน้ำมันภายในประเทศให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบ
  2. ดูแลค่าครองชีพประชาชนผู้มีรายได้น้อย
  3. ดูแลกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบ
  4. ดูแลกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาปัจจัยการผลิต

ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในกรณีต่าง ๆ (เฉลี่ยทั้งปี 2565)

  1. ราคาน้ำมันดิบดูไบ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 33 บาท/ลิตร ปริมาณการ GDP ของไทยอยู่ที่ 3.5% เงินเฟ้ออยู่ที่ 5%
  2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ 120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 40 บาท/ลิตร ปริมาณการ GDP ของไทยอยู่ที่ 3.2% เงินเฟ้ออยู่ที่ 6.2% 
  3. ราคาน้ำมันดิบดูไบ 150 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 46 บาท/ลิตร ปริมาณการ GDP ของไทยอยู่ที่ 3.0% เงินเฟ้ออยู่ที่ 7.2%