เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ค่าความเค็มรุกแม่น้ำเจ้าพระยา 28 มี.ค.- 3 เม.ย. 65

เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ค่าความเค็มรุกตัวบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา 28 มี.ค.– 3 เม.ย. 65 ขณะที่ ชป.เฝ้าระวังสภาพอากาศ ติดตามบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมน้ำรับฤดูน้ำหลาก กรมอุตุนิยมวิทยาเผย ปีนี้เจอเอลนิโญ

วันที่ 28 มีนาคม 2565 รายงานข่าวระบุว่าจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามข้อมูลระดับน้ำทำนายสูงสุด – ต่ำสุด ปี 2565 ของ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ คาดการณ์จะเกิดน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2565

โดยข้อมูลคาดการณ์ระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดของแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าสถานีป้อมพระจุลจอมเกล้า จะเกิดภาวะน้ำทะเลขึ้นเต็มที่ ในช่วงวันที่ 28 มีนาคม–3 เมษายน 2565 วันที่ 4–6 พฤษภาคม 2565 และ วันที่ 19-21 พฤษภาคม 2565 ประกอบกับอิทธิพลของลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้

ส่งผลให้ในช่วงดังกล่าวเกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าจะทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ รวมทั้งมีลิ่มความเค็มรุกตัวเข้าสู่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใช้อุปโภคบริโภคและการเกษตรได้

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดดำเนินการ ดังนี้

1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำ และเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า

2.​เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

3. ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงเวลาดังกล่าว และตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่องพร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและเร่งผลักดันน้ำเค็มโดยเร็ว

4. ปรับแผนการผลิตน้ำประปาเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อคุณภาพน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภครวมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการใช้น้ำอุปโภคบริโภค และการใช้น้ำเพื่อการเกษตรบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้แก่ประชาชนทราบล่วงหน้า

ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (28 มี.ค.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 48,206 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 24,268 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 17,906 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 80 ของแผน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,240 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่าง มีน้ำใช้การได้ 4,544 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 5,008 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 88 ของแผน ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปริมาณฝนในปี’65 นี้ จะคล้ายคลึงปี’52 ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนิโญ ซึ่งอาจส่งผลให้มีปริมาณฝนตกมาก จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องเหมาะสม เน้นย้ำอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำร้อยละ 80 ของความจุอ่าง ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด

รวมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทาน ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด