กรมทรัพย์สินฯลุยต่อ หลังสหรัฐปลดไทยจากบัญชี PWL เหลือ WL เตรียมปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตร

“กรมทรัพย์สินทางปัญญาลุยต่อ หลังสหรัฐฯ ปลดไทยจากบัญชี PWL เหลือ WL เตรียมปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับการนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยว่าจะได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเต็มที่ และการแก้ไขดังกล่าวจะไม่กระทบต่อขอบเขตการคุ้มครองหรือมาตรฐานการตรวจสอบสิทธิบัตรแต่อย่างใด เช่น กำหนดระยะเวลาการประกาศโฆษณาคำจดทะเบียนภายใน 18 เดือนนับแต่วันยื่นคำขอในไทย การลดระยะเวลาการขอให้ตรวจสอบจาก 5 ปีนับแต่วันประกาศโฆษณา เป็น 3 ปีนับแต่วันยื่นคำขอในไทย กำหนดให้คัดค้านได้เมื่อตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้วแต่ก่อนออกสิทธิบัตร เป็นต้น

ทั้งนี้ การแก้ไขบทบัญญัติเรื่องการบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตร ยังเป็นการแก้ไขเพื่อรองรับพันธกรณีความตกลงทริปส์และสุขภาพ ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ที่จะทำให้ไทยดูแลการเข้าถึงยาของประชาชนได้ดีขึ้น

“การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เป็นการดำเนินการต่อเนื่อง และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เพราะหลังจากที่สหรัฐฯ ได้ปลดสถานะประเทศไทยจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) มาอยู่บัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) ได้ส่งผลในด้านความเชื่อมั่นในการทำการค้า การลงทุนกับไทย และยังช่วยส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นตัวขับเคลื่อนตามนโยบาย Thailand 4.0 ด้วย”นายทศพลกล่าว

สำหรับประเด็นที่สหรัฐฯ พอใจและนำมาสู่การปรับลดสถานะดังกล่าว เกิดจาก 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการกำหนดเป็นนโยบายประดับประเทศที่ชัดเจน โดยผู้นำระดับสูงของประเทศให้ความสำคัญ ส่งผลให้มีการดำเนินการอย่างจริงจังจนเห็นผลเป็นรูปธรรม 2.การพัฒนาการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า เช่น การเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าจำนวนมาก ทำให้การจดทะเบียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 3.การเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ และ 4.การเสริมสร้างความโปร่งใสโดยเปิดให้มีการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในประเด็นต่างๆ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77

Advertisment