13 มาตรการรับมือฤดูฝน สทนช.ชงของบฯหมื่นล้าน

อ่างเก็บน้ำ

สทนช.เร่งมาตรการบริหารจัดการน้ำรับฤดูฝนปี’65 ควบแผนกักเก็บน้ำฤดูแล้งปี 2565/66 ย้ำต้องเป็นแผนก่อสร้างเร่งด่วนเเล้วเสร็จใน 120 วัน คาดชง ครม.เคาะงบฯ 1 หมื่นล้านบาท

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าวว่า สทนช.ได้ประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์ให้กับเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อสร้างความเข้าใจในการดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติของมาตรการฤดูฝนปี 2565 จำนวน 13 มาตรการ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2565

และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งปี 2565/2566 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องมีความพร้อมดำเนินการได้ทันทีให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หลังจากได้รับการจัดสรรงบประมาณจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดยระหว่างนี้ สทนช.จะวิเคราะห์ ตรวจสอบ ประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และความพร้อมดำเนินการโครงการให้สอดคล้องตามมาตรการรองรับสถานการณ์ฤดูฝนแล้ว ส่วนหน่วยงานจะต้องจัดทำรายละเอียดแผนงานโครงการผ่านระบบบริหารจัดการแผนงานโครงการและฐานข้อมูลสำหรับบูรณาการแผน เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ หรือระบบ Thai Water Plan (TWP) เท่านั้น

เพื่อให้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดพิจารณากลั่นกรองตามความเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส จากนั้นจะรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) รับทราบก่อนเสนอ ครม.พิจารณา

“ปีนี้เบื้องต้นคาดว่าจะเสนอของบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มเข้ามาอีก 3 มาตรการ รวมเป็น 13 มาตรการ คือ การเพิ่มแผนเชิงรุกส่วนหน้า สำรวจความชำรุดทางน้ำ และซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ แต่จะได้งบฯทั้งหมดหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี”

สำหรับ 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 อาทิ 1.คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยง 2.การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ 3.ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ 4.ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ 5.ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6.ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา 7.เตรียมพร้อมวางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยง

8.เพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ 9.ตรวจความมั่นคงปลอดภัยคันทำนบ พนังกั้นน้ำ 10.เตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ 11.ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย 12.การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ 13.ติดตามประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งทั้งหมดต้องกลั่นกรองให้สอดคล้อง 5 กิจกรรมหลัก สทนช.

ปัจจุบันสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศอยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 24,445 ล้าน ลบ.ม. (42%) หากแยก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำ 10,613 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 43% ของความจุ ใช้การได้ 3,917 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำแล้ว 5,840 ล้าน ลบ.ม. หรือ 102% ของแผน