ตลาดน้ำมันพืชโลกสะเทือน อินโดฯเบรกส่งออกปาล์มโอเลอิน

น้ำมันปาล์มขวด

หลังจาก ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นําอินโดนีเซีย ประกาศระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม มีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 เม.ย. 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหารในประเทศ จากที่ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียเคยประกาศระงับส่งออกน้ำมันปาล์มมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือนมกราคม แล้วจึงยกเลิกประกาศดังกล่าวไปในเดือนมีนาคม

ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นที่ประเทศผู้นําเข้ากังวลว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มที่พุ่งขึ้นจะกระทบผู้บริโภคทั่วโลก

เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า “น้ำมันปาล์ม” เป็นน้ำมันพืชที่มีการบริโภคมากที่สุด และใช้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคหลากชนิดมีการค้าปีละ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

“อินโดนีเซีย” เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก มีปริมาณคิดเป็นสัดส่วน 60% ของโลก ข้อมูลจากสมาคมน้ำมันปาล์มอินโดนีเซีย (GAPKI) ระบุว่า อินโดนีเซียส่งออกน้ำมันปาล์มที่ผ่านกระบวนการแปรรูปจํานวน 25.7 ล้านตันในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วน 75% ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ 2.74 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.98%

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดวันที่ 25 เม.ย. 2565 อินโดนีเซียออกมาให้ความชัดเจนว่าการประกาศนี้ ห้ามการส่งออกเฉพาะ “ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มโอเลอิน หรือน้ำมันปาล์มแปรรูป” (RBD olein) เท่านั้น ไม่รวมการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มเริ่มปรับลดลง

วิกฤตน้ำมันบริโภคกับเชื้อเพลิง

หลังการตัดสินใจของอินโดนีเซียในการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม จุดชนวน “วิกฤตการขาดแคลนน้ำมันพืชบริโภค” ทำให้ประเทศต่าง ๆ อาจจะ “หยุดหรือลด” การผลิตน้ำมันไบโอดีเซล เพื่อให้มีอาหารเพียงพอก่อน

ขณะเดียวกัน การใช้มาตรการคุ้มครองพืชผลภายในประเทศเป็นเทรนด์ที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มใช้มากขึ้นนับตั้งแต่สงครามปะทุขึ้นในยูเครน ซึ่งการระงับการส่งออกครั้งนี้อาจส่งผลให้ “ภาวะเงินเฟ้อ” เพิ่มขึ้นทั่วโลกได้ จากต้นทุนราคาอาหาร และความเสี่ยงวิกฤตความอดอยาก

สะเทือนอุตฯอาหาร

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสําเร็จรูป กล่าวว่า น้ำมันปาล์มถือเป็นน้ำมันพืชที่มีการบริโภคมากที่สุดในโลก มีการใช้ในการผลิตสินค้าหลายอย่าง เช่น บิสกิต มาร์การีน ช็อกโกแลต และน้ำยาซักผ้า ผลกระทบกับประเทศต่าง ๆ กรณีที่อินโดฯห้ามการส่งออกน้ำมันต่อผู้นำเข้าหลัก คือ อินเดียที่ซื้อจากอินโดนีเซียกว่า 50% บังกลาเทศ และปากีสถานนําเข้าจากอินโดนีเซียกว่า 80% ซึ่งแต่ละประเทศจะพยายามเพิ่มการซื้อน้ำมันปาล์มจากมาเลเซีย ผู้ผลิตเบอร์ 2 มีสัดส่วน 25% ของโลก แต่ก็ไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างที่เกิดขึ้นได้

“ทางจีน เคนยา อียิปต์ อินเดียให้ความเห็นว่า ราคาน้ำมันปรุงอาหารจะพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่อินเดียก็ยังคงต้องพึ่งพาน้ำมันปาล์ม เนื่องจากปริมาณน้ำมันดอกทานตะวันลดลงจากการเกิดสงครามในยูเครน”

“ประเทศอังกฤษอุปทานน้ำมันปรุงอาหารเริ่มมีแนวโน้มตึงตัวเช่นกัน เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันเมล็ดทานตะวัน หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงต้องหาน้ำมันพืชอื่นทดแทน และห้างเทสโก้ ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ประกาศจํากัดการซื้อน้ำมันพืชของลูกค้าได้ไม่เกินคนละ 3 ขวด ขณะที่ห้างมอร์ริสันและเวตโรสจํากัดให้ซื้อได้ไม่เกินคนละ 2 ขวด”

น้ำมันพืช

น้ำมันพืชทั่วโลก

ขณะที่สถานการณ์การปรับราคาของน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ อย่าง “น้ำมันถั่วเหลือง” ซึ่งเป็นน้ำมันปรุงอาหารที่ผลิตมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ปีนี้คาดว่าผลิตได้ราว 59 ล้านตัน จีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุด 15.95 ล้านตัน ตามด้วยสหรัฐ 11.9 ล้านตัน บราซิล 9 ล้านตัน และอาร์เจนตินา 7.9 ล้านตัน

“ราคาน้ำมันถั่วเหลืองพุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากความกังวลที่อินโดนีเซียตัดสินใจห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม อาร์เจนตินาผู้ส่งออกน้ำมันถั่วเหลืองอันดับหนึ่งคาดว่าปีนี้ส่งออกได้น้อยลง หลังจากฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้มีปริมาณลดลง ภัยแล้งในอเมริกาใต้

ทำให้ราคาน้ำมันถั่วเหลืองสูงขึ้น 50% สูงสุดเป็นประวัติการณ์เหนือระดับ 84 เซนต์/ปอนด์ และต้องระงับการขายน้ำมันถั่วเหลือง และกากถั่วเหลืองระยะสั้น ๆ ช่วงกลางเดือน มี.ค. ก่อนขึ้นอัตราภาษีส่งออกน้ำมันถั่วเหลือง และกากถั่วเหลืองจาก 31% เป็น 33% เพื่อลดเงินเฟ้ออาหารในประเทศ

ส่วนบราซิลและสหรัฐเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลําดับถัดมา คาดว่าสหรัฐจะเปิดพื้นที่ปลูกใหม่ในปีต่อ ๆ ไปเนื่องจากความต้องการแข็งแกร่งนําไปใช้ทําเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่ขีดความสามารถในการเพิ่มความต้องการในระยะสั้นมีจํากัด”

ส่วน น้ำมันเรปซีด ปีนี้คาดว่าผลิตได้ราว 29 ล้านตัน ส่วนใหญ่ในยุโรป แคนาดา และจีน คาดว่าจะลดลงเนื่องจากภาวะภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา-โดยจีนและสหรัฐเป็นผู้นําเข้ารายใหญ่สุด-ปี 2564 ภัยแล้งลดการเพาะปลูกคาโนลา (เรปซีดชนิดหนึ่ง) ของแคนาดา ปี 2564 ยุโรปก็พืชผลเสียหาย ลดอุปทานน้ำมันปี 2565

สมาคมผู้แปรรูปเมล็ดพืชน้ำมันรายงานว่าปี 2564 แคนาดาส่งออกน้ำมันคาโนลาใช้ในอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงราว 75% สหรัฐส่งออก 62% จีน 25%-อินเดีย ปีนี้เพาะปลูกเรปซีดมากเป็นประวัติการณ์ พืชชนิดนี้ในอินเดียเรียกว่ามัสตาร์ด

ส่วน “น้ำมันดอกทานตะวัน” ได้รับผลกระทบจากวิกฤตรัสเซียและยูเครน ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดอกทานตะวัน 55% ของโลก ส่งออก 76% ของโลก

นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนในเดือน ก.พ. การส่งออกจากภูมิภาคนี้ดิ่งหนัก คาดด้วยว่าผลผลิตในยูเครนสะดุดลงในปีนี้-จีน อินเดีย และยุโรป เป็นผู้นําเข้าน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ กําลังหาทางเลือกอื่นมาทดแทน เช่น จากอาร์เจนตินาซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก

ไทยรับศึกหนัก

ในส่วนของไทยมีการผลิตน้ำมันพืชทุกชนิด รวม 6,724,411 ตัน เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก แบ่งเป็น น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นกลุ่มที่ผลิตมากที่สุด แบ่งเป็น น้ำมันปาล์มดิบ 2,474,606 ตัน น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 1,004,719 ตัน รองลงมา คือ น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ 427,314 ตัน และน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ 44,242 ตัน (ตามตาราง) ซึ่งในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกน้ำมันปาล์ม 22,782 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 363%

ล่าสุดทางกระทรวงพาณิชย์จับตาปาล์มน้ำมัน-ปาล์มขวด หลังอินโดฯห้ามส่งออก โดยยังเดินหน้าขอความร่วมมือตรึงราคาต่อ เบื้องต้นราคาน้ำมันปาล์มขวดยังจําหน่ายในโครงสร้างราคาที่กรมกําหนด โดยขายส่งเฉลี่ยขวด (ลิตร) ละ 62-66 บาท และขายปลีกในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ขวดละ 63-68 บาท พร้อมทั้งจัดกิจกรรมลดค่าครองชีพ

ขณะนี้ไทยังไม่ได้กำหนด “มาตรการห้ามส่งออก” เพราะปัจจุบันสต๊อกในประเทศยังอยู่ในระดับที่เพียงพอ 1.78 แสนตัน เพียงแต่ต้องดูแลสร้างสมดุลของผู้บริโภค เกษตรกรและโรงงานผู้ผลิตให้อยู่ร่วมกันได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผลปาล์มกำลังออกสู่ตลาดในเดือน พ.ค.นี้ มากกว่า 2 ล้านตัน