กองทุนน้ำมันติดลบทุบสถิติ รัฐซื้อเวลา สวนทางราคาตลาดโลกขึ้นไม่หยุด

กองทุนน้ำมัน

สถานะกองทุนน้ำมันฯย่ำแย่หนัก ติดลบทะลุ 70,000 ล้านบาท ใกล้จะได้เห็น 100,000 ล้านบาทอีกไม่นานนี้ หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังไม่ลดลง ชี้ลดภาษีสรรพสามิต 5 บาท/ลิตรเพื่อ “ซื้อเวลา” ตรึงดีเซลไว้ในกรอบไม่เกิน 35 บาท/ลิตร ทั้ง ๆ ที่ราคาจริงใกล้ 40 กว่าบาท

ด้านสถาบันการเงินยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ว่าจะปล่อยกู้กองทุน เหตุกังวลความสามารถ-เวลาในการชำระหนี้ ด้าน “ศุภวุฒิ” ชี้รัฐบาลต้องบอกความจริงประชาชน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ปรากฏฐานะกองทุนสุทธิติดลบไปแล้วถึง -72,062 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีก๊าซติดลบ -34,208 ล้านบาท ขณะที่บัญชีน้ำมันติดลบ -37,854 ล้านบาท หรือบัญชีน้ำมันติดลบ “แซงหน้า” บัญชีก๊าซไป เหตุผลสำคัญ 2 ประการคือ รัฐบาลยอมให้มีการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG แบบขั้นบันไดให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดโลก ในขณะที่น้ำมันรัฐบาลยังพยายามที่จะคงการ “อุดหนุน” ต่อไป แม้จะลดลงแต่ก็ยัง “ตรึงราคา” น้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตร

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงครั้งล่าสุด (18 พ.ค. 2565) แม้ที่ประชุมจะมีมติให้ “คงราคา” จำหน่ายน้ำมันดีเซลในประเทศไว้ที่ลิตรละ 32 บาทต่อไปอีก 1 สัปดาห์ (สิ้นสุดวันที่ 22 พ.ค.) พร้อม ๆ กับยังคงยืนยันกรอบราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตร ทั้ง ๆ ที่ราคาขายปลีกที่แท้จริงนั้นได้ทะลุ 42 บาท/ลิตรไปแล้ว หรือเท่ากับกองทุนน้ำมันฯให้การ “อุดหนุน” อยู่ลิตรละ 8.9 บาท โดยการดำเนินการทั้งหมดนี้ก็เพื่อ “ประคองราคาขายน้ำมันดีเซลให้อยู่ระหว่าง 32-35 บาท/ลิตรให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้แสดงความเป็นห่วงถึงสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงออกมาว่า “แนวโน้มราคาน้ำมันไม่น่าจะลดลงแล้ว ในระหว่างเดือนนี้ราคาน้ำมันน่าจะอยู่ในกรอบ 115 บาท/บาร์เรล และหากยังปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ก็มีโอกาสที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะติดลบ -100,000 ล้านบาทได้”

ยังไร้แบงก์ปล่อยกู้

สำหรับการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อมาเสริม “สภาพคล่อง” ให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เริ่มกระบวนการขอกู้เงินมาตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2564 จากการสอบถามไปยังสถาบันการเงินหลายแห่งกล่าวตรงกันว่า เงื่อนไขสำคัญก็คือ “ความสามารถในการชำระหนี้” ของกองทุนน้ำมันฯ ยิ่งกองทุนติดลบมากขึ้นจนเกินกว่าที่เคยติดลบสูงสุดเมื่อปี 2544 มูลค่า 82,988 ล้านบาท ทำให้มี “ความเสี่ยง” ที่กองทุนจะหาเงินมาชำระหนี้ให้ตรงเวลาก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น แต่ที่สำคัญก็คือ แผนการชำระหนี้เงินกู้เชื่อว่าจะผูกติดไว้กับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง (หักเงินจากราคาขายปลีกเข้ากองทุนเพื่อชำระหนี้)

ก่อนหน้านี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเคยแจ้งว่า จะชำระหนี้เงินกู้ (วงเงินกู้ประมาณ 30,000 ล้านบาท) เงินคืนภายใน 3 ปีหลังจากปล่อยกู้ไปแล้ว แต่การประเมินครั้งนั้นเกิดขึ้น ณ ราคาน้ำมันอยู่ที่ 85 เหรียญ/บาร์เรล ก่อนที่จะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนจนทำให้ราคาน้ำมันดิบปัจจุบันขยับทะลุ 100 เหรียญ ไปยืนใกล้กับระดับ 110-115 เหรียญ/บาร์เรล (เวสต์เทกซัส+เบรนต์ 112 เหรียญ/บาร์เรล-น้ำมันดิบดูไบ 105 เหรียญ/บาร์เรล ณ วันที่ 19 พ.ค. 2565) ไปแล้ว และหากราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้นไปถึง 120 เหรียญ/บาร์เรล แน่นอนว่า การพยุงเสถียรภาพกองทุนน้ำมันฯเพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในกรอบ 35 บาท/ลิตรก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีก

วิธีการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับราคาน้ำมันในประเทศ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนที่เป็นไปได้ในขณะนี้ นอกเหนือจาก “ความหวัง” ที่จะมีสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งปล่อยกู้ให้กับกองทุนก่อน “เส้นตาย” ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ก็คือ 1) การต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลงมาอีก 5 บาท/ลิตร ซึ่งรัฐบาลได้ตัดสินใจดำเนินการไปแล้ว เพื่อรักษาความสามารถของกองทุนน้ำมันฯที่จะ “อุดหนุน” ราคาดีเซลในประเทศไว้ตามกรอบ 35 บาท/ลิตร กับ 2) การขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นการฉุกเฉินตามมาตรา 6 (2) พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ขึ้นอยู่กับการติดสินใจของรัฐบาล เพราะหากทอดระยะเวลาเกินไปกว่าเดือนมิถุนายน โดยที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังไม่มีทีท่าว่าจะลดต่ำลงมากว่า 100 เหรียญ/บาร์เรลแล้ว ถึงเวลานั้นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็จะไม่มีความสามารถที่จะต้องปล่อยลอยตัวราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลทั้งหมด

ต้องบอกความจริงประชาชน

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ให้ความเห็นถึง สถานการณ์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน ปรากฏมีการใช้เงินอุดหนุนอยู่ประมาณ 15,000-18,000 ล้านบาท/เดือน และถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปแล้วก็สามารถคำนวณได้คร่าว ๆ ว่า ภายในเวลา 2 เดือนข้างหน้านี้ “หนี้” ของกองทุนน้ำมันฯมีโอกาสแตะ 100,000 ล้านบาทแน่นอน

ที่ผ่านมารัฐบาลใช้วิธี “ยื้อเวลา” เช่น การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงมา 5 บาท/ลิตร ซึ่งก็เหมือนการบริหารกระเป๋าซ้าย-กระเป๋าขวา เพราะรัฐบาลก็รู้ว่า ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯจะกู้ได้ไม่เกิน 80,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้องลดภาษีสรรพสามิตมาอุด “ปิดแกป” ราคาน้ำมันขายปลีกกับราคาที่แท้จริงในตลาดไปก่อน โดยรัฐบาลหวังระยะเวลาข้างหน้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะลดลง แต่ก็น่าตั้งข้อสงสัยว่า “ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะลดลงได้อย่างไร” ในเมื่อสถานการณ์โลกเป็นอย่างนี้ และล่าสุดมีโรงกลั่นที่ใหญ่มากที่เกาหลีใต้ก็ไฟไหม้ด้วย ยิ่งทำให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกลดลง รวมกับในสหรัฐตอนนี้เข้าสู่ฤดูเดินทางแล้ว นั่นหมายถึง มีคนใช้น้ำมันเยอะขึ้น ราคาน้ำมันจึงไม่น่าจะลดลงด้วยซ้ำ

“ถึงเวลานี้ คุณต้องบอกประชาชนว่า ทำแบบนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น เพราะราคาน้ำมันดีเซลในปัจจุบันมันสะท้อนความเป็นจริงของโลก ซึ่งอยู่ระดับสูงจริง ๆ ในความเห็นของผม รัฐบาลต้องบอกความจริงประชาชน เพราะหากยังพยายามยื้อต่อไป รัฐบาลหน้ายิ่งจะไม่มีทรัพยากรเหลือสำหรับการบริหารจัดการในอนาคตอีก” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

พร้อมกับเสนอว่า เมื่อรัฐบาลกล้าบอกความจริงแล้วก็อาจต้องบอกประชาชนให้ชัดว่า จะต้องขึ้นราคาน้ำมันไปถึงระดับราคาที่เท่าไร เช่น จะปรับขึ้นเดือนละกี่บาท เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกี่เดือน เพื่อให้ประชาชนได้วางแผนและปรับตัว อีกด้านหนึ่งอาจต้องออกมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้น แต่การออกมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มก็อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไมช่วยกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ช่วยกลุ่มอื่น เป็นต้น

ส่วนเรื่องหนี้สาธารณะ ปัจจุบันหนี้สาธารณะของประเทศไทยเรียกว่า “สูงขึ้น แต่ไม่ได้สูงมาก” และในระดับนี้จะยังไม่มีผลต่อการปรับระดับเครดิตเรตติ้งของสถาบันต่าง ๆ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ fiscal policy space หรือพื้นที่นโยบายการคลังของไทยนั้น “ร่อยหรอไปมากแล้ว”