เผยโฉม 4 ต้นแบบ EV BUS ใช้ชิ้นส่วนในประเทศถึง 60%

ต้นแบบ EV BUS

เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย กับ 4 ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า EV BUS คนไทยทำ ดัดแปลงจากรถเมล์ ขสมก. ที่ใช้แล้ว 20 ปี เตรียมต่อยอดสู่การผลิตชิ้นส่วน EV เผย 4 บริษัทใช้วัสดุในประเทศถึง 60% “สถาบันยานยนต์” คาดปี’65 ยอดขาย EV แตะ 5,000 คัน

วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปี ยานยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากประโยชน์ในการลดต้นทุนด้านพลังงาน และที่สำคัญที่สุดคือการลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าลงทุนและน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าระดับอุตสาหกรรม จึงถูกพัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือ (Consortium) ภาคีเครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมรถโดยสารไฟฟ้าไทย ที่ดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย ประกอบไปด้วยสมาชิกจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร กรมการขนส่งทางบก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) บริษัทเอกชนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

โครงการการพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ขสมก. เป็นรถโดยสารไฟฟ้าเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ใช้ความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าที่มีคุณภาพ สามารถใช้งานได้ดี มีมาตรฐานและต้นทุนต่ำ

ซึ่งต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าทั้ง 4 รุ่น ถูกพัฒนาจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ถูกแจ้งปลดระวางไปแล้ว นำมาปรับปรุงและพัฒนาเป็นรถโดยสารไฟฟ้า ให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ลดต้นทุนการนำเข้าหรือผลิตรถโดยสารไฟฟ้าใหม่ ด้วยมูลค่าสัดส่วนการผลิตชิ้นส่วนจากในประเทศมากกว่า 40%

และมีต้นทุนต่ำกว่าการผลิตและนำเข้ารถโดยสารไฟฟ้าใหม่มากกว่า 30% หรือประมาณ 7 ล้านบาทต่อคัน ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้เพิ่มขีดความสามารถในการออกแบบและผลิตรถโดยสารไฟฟ้าได้มีคุณภาพภายใต้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเชิงวิศวกรรมจากความเชี่ยวชาญของนักวิจัยของ สวทช.และพันธมิตร

ทั้งนี้มีภาคเอกชนร่วมพัฒนารถโดยสารใช้แล้วของ ขสมก. เป็นรถโดยสารไฟฟ้า คือ 1.บริษัท โชคนำชัย-ไฮเทคเพลสซิ่ง จำกัด พัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (CNC EV BUS) สัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 40% ที่มุ่งเน้นการพัฒนาตัวถังจากวัสดุน้ำหนักเบา ด้วยตัวถังอะลูมิเนียม ลดน้ำหนักตัวถังเพิ่มประสิทธิภาพการขับขี่ เพื่อส่งมอบให้กับ กฟน.

2. บริษัท พานทอง กลการ จำกัด พัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (PTM EV BUS) สัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 60% โดยมีความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายชุดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนภายในประเทศเพื่อส่งมอบให้กับ กฟผ.

3. บริษัท รถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) พัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (EVT EV BUS) สัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 40% มีจุดเด่นที่ใช้ชิ้นส่วนสำคัญจากผู้ผลิตชั้นนำจากต่างประเทศโดยตรง ทำให้มีความเชื่อมั่นในการใช้งานและรับประกัน เพื่อส่งมอบให้กับ กฟภ.

และ 4. บริษัท สบายมอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด พัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (SMT EV BUS) ที่มีจุดเด่นในความเชี่ยวชาญด้านวิศกรรมการออกแบบระบบขับเคลื่อน จากประสบการณ์พัฒนารถโดยสารไฟฟ้าและทดสอบใช้งานบนสภาวะการขับขี่จริง บนระยะทางกว่า 25,000 กิโลเมตร เพื่อส่งมอบให้กับ ขสมก.

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ในปี 2565 นี้ เป็นปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเริ่มฟื้นตัว คาดการณ์ว่าจะสามารถผลิตยานยนต์ได้ 1.8 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 7% โดยเป็นการจำหน่ายในประเทศ  8 แสนคัน และส่งออก 1 ล้านคัน

และยังประเมินว่า ปริมาณการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า EV จะมีประมาณ 5,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่จำหน่ายได้ประมาณ 2,000 คัน เป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ ทำให้ผู้บริโภคให้การยอมรับมากขึ้น ซึ่งจากการที่ประเทศไทยได้กำหนดให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกนั้น ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อการตอบสนองเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศให้เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

โดยตั้งเป้าให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด รวมทั้งตั้งเป้าให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 15 ล้านคัน หรือ 1 ใน 3 ของยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2578

ต้นแบบ EV BUS
ต้นแบบ EV BUS
ต้นแบบ EV BUS
ต้นแบบ EV BUS
ต้นแบบ EV BUS
ต้นแบบ EV BUS
ต้นแบบ EV BUS
ต้นแบบ EV BUS