นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดตั้งคณะนักกฎหมายเพื่อต่อสู้หักล้างข้อกล่าวหาในคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์เซส จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวหาการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 72/2559 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งส่งผลให้การดำเนินกิจการเหมืองทองคำต้องถูกระงับลงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา เป็นการกระทำที่ละเมิดข้อตกลงว่าด้วยการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA : ทาฟต้า)
“ผมขอยืนยันในนามรัฐบาลไทยว่ามีความพร้อมที่จะชี้แจงข้อกล่าวหาของคิงส์เกตในทุกกรณี และมั่นใจว่าคำสั่ง คสช.ฉบับดังกล่าวซึ่งมีเจตนารมณ์ชัดเจนในการแก้ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ซึ่งภาคประชาชนร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแก้ปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่ทองคำ โดยรัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนเพื่อให้เกิดความชัดเจน มิได้มุ่งหวังที่จะทำลายธุรกิจของภาคเอกชน แต่คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐ ชุมชน ประชาชน ผู้ประกอบการอย่างครบถ้วนและชอบธรรม และคำสั่ง คสช.เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยข้อตกลงทาฟต้าทุกประการ อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หรือ Sustainable Development Goals-SDGs ด้วย”
นายพสุ กล่าวว่า คาดหวังว่าข้อกล่าวหาของคิงส์เกตน่าจะมีข้อยุติลงด้วยดีหากฝ่ายคิงส์เกตยอมรับข้อกังวลที่เกิดขึ้นกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทย แล้วดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายไทย และเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับที่ดำเนินกิจการอยู่ในอารยประเทศ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่โครงการเกิดความเชื่อมั่นและยอมรับ
“รัฐบาลไทย ยังคงยึดมั่นและตระหนักในพันธกรณีตามข้อตกลงที่ผูกพันอยู่ รวมทั้งข้อตกลงทาฟต้าโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ”
สำหรับบริษัท อัครา รีซอร์เซส จำกัด (มหาชน) เริ่มประกอบกิจการเหมืองทองคำและกิจการโลหกรรมในประเทศ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เมื่อปี 2544 แต่ระหว่างดำเนินกิจการเคยถูกสั่งปรับ ถูกสั่งระงับการประกอบกิจการหลายครั้งเนื่องจากการดำเนินกิจการบางส่วนเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายไทย เช่น กฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยโรงงาน เป็นต้น กระทั่งถูกระงับการประกอบการเป็นการชั่วคราวจากคำสั่ง คสช. ดังกล่าว