พรายพล คุ้มทรัพย์ แนะสูตรแทรกแซงค่าการกลั่นใหม่ ช่วยไทยคุ้มกว่า 2 เด้ง

ราคาน้ำมันวันนี้ (20 มี.ค. 65) เช็กราคาดีเซล-แก๊สโซฮอล์ล่าสุด
REUTERS/Gaby Oraa

‘พรายพล คุ้มทรัพย์ ‘ นักวิชาการ แนะปรับสูตรใหม่แทรกแซงค่าการกลั่นใหม่ ช่วยไทยคุ้มกว่า 2 เด้ง ไม่กระทบค้าเสรี ลดราคาน้ำมันดีเซล 2 บาท แถมประหยัดเงินกองทุนน้ำมัน

วันที่ 14 มิถุนายน 2565 หลังจากกระทรวงพาณิชย์ปัดไม่พิจารณาเรื่องการกำหนด “ค่าการกลั่น” เป็นสินค้าควบคุม ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ 2522 แล้ว โดยชี้ว่าตามหลักการแล้ว “น้ำมันและพลังงาน” มีกฎหมายเฉพาะดูแล คือ พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ปี 2535 มาตรา 6(2) ที่ให้อำนาจคณะกรรมการ กพช. พิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงานให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานประเทศ

ซึ่งหมายความรวมถึงเรื่องค่าการกลั่นด้วย และนอกจากนี้ยังมีอำนาจตามกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน เช่น ต้องดูเรื่องการค้าเสรีในประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบต่อธุรกิจโรงกลั่นซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนด้วย

ล่าสุดนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีเตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปเรื่องค่าการกลั่นและจะมีเปิดสูตรใหม่ในช่วง 17.00 น.ของวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ซึ่งอาจจะมีบางประเด็นที่ต้องปรับ “สัญญา” ระหว่างโรงกลั่นกับรัฐ หรือผู้ค้ามาตรา 7 ทำให้ต้องพิจารณาผลกระทบที่จะตามมาเป็นสำคัญ

แต่หากการพิจารณาล่าช้าไม่ได้ข้อสรุปภายในเดือนมิถุนายน 2565 ตามเดตไลน์ อาจจะทำให้การพยุงสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยากขึ้น เพราะขณะนี้กองทุนติดลบ 91,089 ล้านบาท ขยับเข้าใกล้เป้าหมายกับที่นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพาณิชย์เคยคาดการณ์ไว้ว่ามีโอกาสจะติดลบ 1 แสนล้านบาทในปลายปีนี้ “เร็วขึ้น” และยังไม่สามารถเสริมสภาพคล่องได้

หนุนรัฐแทรกแซง คุมค่าการกลั่น ชี้กระทบต่างชาติไม่ต่างจากคุมมาร์เก็ตมาร์จิ้น

ศ.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า การเข้าไปแทรกแซงค่าการกลั่นของรัฐบาลถือว่ามีเหตุผลและสามารถทำได้ เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ภาวะค่าการกลั่นปัจจุบันอยู่ภาวะสูงขึ้นผิดปกติทั่วโลก เป็นผลมาจากเกิดการขาดแคลนกำลังการผลิต จากที่โรงกลั่นน้ำมันทั่วโลกเผชิญกับปัญหาโควิดจึงไม่มีการลงทุนใหม่ ทำให้ค่าการกลั่นตอนนี้สูงผิดปกติ 5-6 บาทต่อลิตรจากระดับปกติที่ 2-3 บาทต่อลิตร

“การแทรกแซงทำได้ แต่วิธีการแทรกแซงนั้นต้องดูว่าจะทำอย่างไร มีหลายวิธี วิธีหนึ่งรัฐสามารถกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นได้ จึงควรปรับสูตรจากเดิมไทยจะอ้างอิง “ราคาเฉลี่ย” หน้าโรงกลั่นสิงคโปร์มาใช้ในการคำนวณ ซึ่งในงวดนี้ควรปรับมาใช้ตัวเลข “ค่าต่ำสุด” แทน ซึ่งหากพิจารณาใช้วิธีการนี้ควรใช้เฉพาะช่วงเวลาที่ค่าการกลั่นผิดปกติเท่านั้นหากสถานการณ์คลี่คลายก็กลับไปใช้สูตรปกติ เพราะหากไม่อิงราคาหน้าโรงกลั่งสิงคโปร์จะทำให้เกิดความยุ่งยากพอสมควร”

ทั้งนี้ การกำหนดค่าการกลั่นจะต้องใช้ทั้งกับโรงกลั่นไทยและโรงกลั่นต่างชาติไม่ต่างกัน แต่มองว่าไม่ว่าน่าจะมีปัญหา เพราะโรงกลั่นไทยส่วนใหญ่เท่าที่ทราบก็อยู่ในกลุ่ม ปตท. ส่วนโรงกลั่นต่างชาติก็จะต้องปฏิบัติตามไม่ต่างกัน “ไม่มีเหตุผลอะไรที่เขาจะไม่ทำตาม”

“ประเด็นที่กังวลว่าการที่รัฐเข้าไปแทรกแซงจะไปกระทบสัญญาและธุรกิจค้าเสรีนั้น ต้องบอกว่าถึงรัฐไม่แทรกแซงค่าการกลั่น ก่อนหน้านี้รัฐก็แทรกแซงด้วยการกำหนดราคาขายปลีก กำหนดมาร์เก็ตมาร์จิ้นซึ่งก็กระทบต่อการประกอบธุรกิจอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ภาวะมันผิดปกติต้องแทรกแซง”

ปรับสูตรช่วงลดราคาน้ำมัน-ลดภาระกองทุน

“ผลจากการดูแลค่าการกลั่นด้วยวิธีดังกล่าวจะช่วยให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลงแน่นอน ลิตรละ 1-2 บาท ซึ่งจะช่วยให้สถานะของกองทุนน้ำมันดีขึ้น เพราะไม่ต้องเข้าไปอุดหนุน ซึ่งก็คิดเป็นเงินหลายพันล้านบาทต่อเดือน แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาสถานะกองทุนน้ำมันก็ยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการกู้ ซึ่งรัฐต้องไปค้ำประกันเงินกู้ให้กองทุนน้ำมันฯ เพราะกองทุนนี้ไม่ได้เป็นของใคร ที่ผ่านมามีการกำหนดวงเงินและมีการปรับแก้กฎที่ให้รัฐสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว แต่หากไม่มีสถาบันการเงินใดปล่อยกู้จริงๆ รัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือกองทุน คงจะไม่สามารถปล่อยให้กองทุนถังแตกได้ และต้องทำให้ทันภายใน 2 สัปดาห์หากทำไม่ได้ก็ควรเปลี่ยนการทำงาน”

ยึดกรอบราคาดีเซล 35 บาท

อย่างไรก็ตาม ศ.พรายพล เห็นว่า รัฐบาลยังไม่ควรขยับเพดานการดูแลราคาดีเซลเกิน 35 บาทต่อลิตร เพราะราคาน้ำประเมินจากสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบที่ 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล “แม้ว่าตอนนี้ราคาน้ำมันบางตลาด (เบลนด์-เวสเท็กซัส)จะขยับขึ้นไปเกิน 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่เป็น “ภาวะชั่วคราวบางช่วงเวลา” เท่านั้น ดังนั้นรัฐควรยึดกรอบ 35 บาท/ลิตรไว้ก่อน

“มองว่าโอกาสที่กองทุนน้ำมันจะติดลบทะลุ 1 แสนล้านบาทภายในเดือนนี้เป็นไปได้แน่นอน เพราะตอนนี้ติดลบ 9 หมื่นล้านแล้ว แต่การติดลบแสนล้านบาทครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เคยมีการติดลบ แสนล้านบาทมาแล้ว ตอนนั้นยังไม่ได้มีสุูตรดำเนินการแก้ไขปัญหาแต่ราคาน้ำมันดิบลดลงมาเสียก่อนจึงทำให้สถานะกองทุนค่อยๆฟื้นคืนกลับมา ในอนาคตยังมองว่าภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนน่าจะคลี่คลายลงได้โดยเร็ว เพราะทุกฝ่ายคงไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ยืดเยื้อไป 3 หรือ 5 ปี เพราะมันกระทบกับทุกประเทศ มีคนที่ได้ประโยชน์เพียงเฉพาะประเทศผู้ค้าน้ำมันเท่านั้น ดังนั้นทุกฝ่ายต้องหาทางให้เรื่องนี้ยุติลงโดยเร็ว”