ทุนนอกแห่เข้าเวียดนามหมื่นล้าน 5เดือนแรก “LEGO-Pandora” ปักหมุด

เวียดนาม

ทุน “สิงคโปร์-เกาหลี-เดนมาร์ก” แห่เข้าเวียดนาม 5 เดือนแรกยอดพุ่งเฉียดหมื่นล้านเหรียญ “LEGO” นำร่องก่อน ตามด้วยบิ๊กธุรกิจเครื่องประดับโลก “Pandora” ขยายฐานจากไทยไปปั๊มกำลังการผลิตเพิ่ม 60% อาศัยข้อได้เปรียบต้นทุนค่าแรงงานถูกกว่า 3 เท่า ทั้งยังส่งออก 53 ประเทศคู่ค้าเอฟทีเอเปิดตลาดลดภาษีให้ ด้านสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม แนะรัฐเร่งปรับมาตรการเสริมเสน่ห์ดึงลงทุน เจรจาเอฟทีเอ เร่งเครื่องโครงสร้างพื้นฐาน

รายงานข่าวจากสํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก ระบุว่า บริษัท แพนดอร่า ผู้ผลิตและส่งออกเครื่องประดับเงินรายใหญ่สัญชาติเดนมาร์ก ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับเวียดนามเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2565 เพื่อเตรียมสร้างโรงงานผลิตเครื่องประดับในนิคมอุตสาหกรรมเวียดนาม-สิงคโปร์ 3 ในจังหวัดบิ่ญเซือง (Binh Duong) ของเวียดนาม ซึ่งอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ไปทางเหนือ ประมาณ 40 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยโรงงานแห่งใหม่นี้จะสร้างขึ้นตามมาตรฐาน LEED Gold ซึ่งเป็นใบรับรองอาคารสีเขียวและใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งสิ้น

ทั้งนี้ โรงงานใหม่ของแพนดอร่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2565 มีกำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2567 จะจ้างงานประมาณ 6,000 ราย ซึ่งจะช่วยเพิ่มกําลังการผลิต 60 ล้านชิ้นต่อปี

ในขณะเดียวกัน แพนดอร่าจะขยายโรงงานตามแผนที่วางไว้ที่โรงงานในจังหวัดลําพูน ซึ่งการเพิ่มกําลังการผลิตทั้ง 2 แห่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตโดยรวมได้ถึง 60% การขยายการผลิตไปยังประเทศใหม่จะช่วยให้แพนดอร่ามีความยืดหยุ่นมากขึ้นต่อสถานการณ์ผันผวนของห่วงโซ่อุปทานในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลจากค่าแรงงานเวียดนามถูกกว่าไทย 3 เท่า จึงเป็นผลให้ไทยต้องสูญเสียการจ้างงานคนไทยเกือบ 6,000 คนให้เวียดนาม

ทั้งนี้ บริษัทแพนดอร่า เป็นบริษัทผลิตและจําหน่ายเครื่องประดับระดับโลก ที่มีการจำหน่าย 102 ล้านชิ้นในปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 23.4% หรือคิดเป็นยอดจําหน่ายสูง 3,559 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแยกออกเป็นยอดขายผ่านร้านค้าปลีก 1,513 ล้านเหรียญสหรัฐ ยอดขายผ่านทางออนไลน์ 909 ล้านเหรียญสหรัฐ และยอดขาย ช่องทางค้าส่ง 1,137 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบันแพนดอร่ามีจุดขายมากกว่า 7,800 แห่ง และมีพนักงานกว่า 27,000 คนทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ โดย “ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแห่งเดียวของแพนดอร่า” ซึ่งเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย 2 แห่งที่กรุงเทพฯและจังหวัดลําพูนเมื่อประมาณปี 2561 มีกำลังการผลิต 130 ล้านชิ้นต่อปี

“หลังจากนี้ แพนดอร่ามีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิต 60% หรือ 80 ล้านชิ้น โดยจํานวน 60 ล้านชิ้นจะไปผลิตที่โรงงานใหม่ที่เวียดนาม และอีก 20 ล้านชิ้นจะเพิ่มการผลิตที่โรงงานที่จังหวัดลําพูน แสดงให้เห็นว่าแพนดอร่ายังผลิตเครื่องประดับส่วนใหญ่ในไทยและผลิตเพิ่มขึ้น และมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับจะเพิ่มขึ้น แต่อาจจะอยู่ในระดับต่ำ หรือขยายตัวในอัตราถดถอย เพราะเวียดนามได้เข้ามาแย่งสัดส่วนตลาดไปในอีก 2 ปีข้างหน้า”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ได้รับรายงานเรื่องแรกโรงงาน Pandora จากเดนมาร์กได้ไปลงทุนที่เวียดนามเป็นโรงงานแห่งที่ 3 ด้วยเงินลงทุน 100 ล้านเหรียญ โรงงาน 2 แห่งแรกตั้งอยู่ที่ไทย คือ กรุงเทพฯและลำพูน เหตุผลที่ไปลงทุนที่เวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีช่างฝีมือจำนวนมาก และต้นทุนแรงงานต่ำกว่าไทยเกือบ 3 เท่าตัว

สนั่น อังอุบลกุล
สนั่น อังอุบลกุล

ซึ่งเท่าที่ติดตามขณะนี้สถานการณ์การเคลื่อนย้ายการลงทุนใหม่ไปในเวียดนาม 5 เดือนแรก FDI มีการเพิ่มเงินลงทุน 7.8% (ปีต่อปี) เป็นจำนวนเงิน 7,710 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยประเทศที่ไปลงทุนมากที่สุด คือ สิงคโปร์ ลงทุน 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 25% ของจำนวน FDI ทั้งหมด หลัก ๆ เป็นการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ รองลงมา คือ เกาหลีใต้ เงินลงทุน 2,060 ล้านเหรียญ สัดส่วน 17% ของ FDI ทั้งหมดในด้านอุตสาหกรรม และประเทศเดนมาร์ก เงินลงทุน 1,320 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 11% ของ FDI ทั้งหมด ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ของโรงงาน LEGO

“ปัจจัยที่หนุนให้นักลงทุนสนใจเวียดนาม ประกอบด้วยหลัก ๆ มาจากปัจจุบันเวียดนามมีการทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) 16 ฉบับ ครอบคลุม 53 ประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) หรือที่เรียก EVFTA และความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP”

อีกทั้งเวียดนามยังมีปัจจัยต้นทุนค่าแรงที่ต่ำ อีกทั้งมีแรงงานวันทำงานจำนวนมาก จึงไม่ใช่เพียงฐานผลิตแต่ะยังเป็นตลาดสำคัญด้วย เพราะภายในประเทศเวียดนามกำลังเติบโตด้วยประชากรเกือบ 100 ล้านคน และสุดท้ายสถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพ รัฐบาลมีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีอากรและด้านอื่น ๆ อย่างมาก

นายสนั่นกล่าวว่า ในส่วนของไทยควรปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเน้น 1.การทำความตกลง FTA เพิ่ม โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ EU หรือ EV FTA และ CPTPP 2.ไทยควรเน้นดึงการลงทุนใน segment ที่แตกต่างจากประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงเช่นอุตสาหกรรม new S-curve ในโครงการ EEC ของไทย

“ตอนนี้ไทยมีจุดเด่น เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) เราจะต้องพยายามรักษาจุดแข็งนี้ เพราะในอนาคตเวียดนามอาจจะตามทัน”