“กฤษฎา” เร่งเครื่องตั้งทีมเกษตรจังหวัด 2 ชุด แก้ปัญหาภาคเกษตรทั้งระบบ ดันมาตรการยาง-แก้หนี้-ไอยูยู

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายที่กรมส่งเสริมการเกษตรว่า ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งดูงานที่เป็นปัญหาสำคัญในแต่ละจังหวัด แล้วเสนอโครงการขึ้นมา เพื่อของบประมาณในการนำไปดำเนินการและการแก้ไขปัญหา

โดยจะดูมิติของเกษตร เน้นจากพื้นฐานส่วนล่างขึ้นมาแก้ปัญหา เพื่อให้ตรงจุดมากที่สุด พร้อมทั้งต้องประสานงานกับพาณิชย์จังหวัดในการพัฒนาด้านการตลาด เพื่อผลักดันด้านราคาของผลผลิตเกษตรด้วย

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานของกระทรวงเกษตรฯ ระดับจังหวัดขึ้นมา 2 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด และคณะทำงานปฏิบัติการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับอำเภอ

โดยคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด หรือ Chief of Operation มีเกษตรจังหวัดเป็นประธาน มีหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติงานของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการสร้างการรับรู้และบูรณาการการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ ให้เป็นเอกภาพ และพัฒนาด้านการเกษตรและสหกรณ์ที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งการติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ที่จะเป็นปัญหาหรือส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร และพิจารณาดำเนินการป้องกัน ควบคุมและแก้ไข รวมถึงการบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่อยู่ในเขตจังหวัด เพื่อให้การแก้ไขปัญหาภาคเกษตรในพื้นที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือวิกฤตเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

ส่วนคณะทำงานชุดที่ 2 คือ คณะทำงานปฏิบัติการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับอำเภอ หรือ Operation Team ขึ้นมาสนับสนุนการทำงานอีกชุดหนึ่ง โดยมีเกษตรอำเภอเป็นประธาน และเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกัน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนจากหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทั้งในระดับกรมและที่อยู่ในเขตจังหวัดทั้งราชการบริหารส่วนภูมิภาคและราชการบริหารส่วนกลางเพื่อการแก้ปัญหาปากท้องระยะยาว

ขณะที่มาตรการในการผลักดันราคายางพารานั้น เบื้องต้นได้ขอความร่วมมือให้งดการกรีดยางในพื้นที่ของรัฐบาล 3 หน่วยงาน ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ รวมประมาณ 1 แสนไร่ เริ่มตั้งแต่เดือนนี้ ไปจนถึงเดือนมีนาคม โดยจะมีการชดเชยให้ไร่ละ 1 พันบาท และจะเร่งส่งเสริมการทำเกษตรแซมยางให้กับชาวสวนยาง หรือปลูกอื่นทดแทน ตั้งเป้าไว้ที่ 2 ล้านไร่ เพื่อลดปริมาณผลผลิตยางพาราภายในประเทศ และส่งออกให้ได้ประมาณ 320,000 ตัน ในปีนี้ พร้อมทั้งได้ขอความร่วมมือกับอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ให้ช่วยหยุดกรีดยางในช่วงเวลานี้ด้วยเช่นกัน เพื่อลดปริมาณผลผลิตยางออกสู่ตลาด กระตุ้นความต้องการใช้ยางเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ราคายางมีการขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับปัญหาหนี้สินเกษตรกรนั้น ล่าสุดที่ประชุมกองทุนฟื้นฟูเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินเกษตร (กฟก.) ได้สรุปข้อมูลทะเบียนเกษตรกรที่มาแสดงตัวตนผู้มีหนี้สินมีมากถึง 2.9 แสนราย ซึ่งในข้อนี้ กม.กองทุน กำหนดไว้ว่า หนี้ที่กองทุนที่สามารถดูแลได้ต้องเป็นหนี้เกษตร ต้องเป็นหนี้สถาบันการเงินหรืององค์กรเกษตรกรเท่านั้น ซึ่งเมื่อสำรวจแล้วพบว่าในจำนวนทั้งหมดเข้าหลักเพียง 739 รายเท่านั้น มูลหนี้ประมาณ 132 ล้านบาท ดังนั้น จึงต้องมีการหารือปรับระบบใหม่ โดยต้องไปดูข้อกฎหมายเพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์ รวมถึงปัญหาข้อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย (IUU) ที่ชาวประมงเรียกร้องขอให้แก้ไขกฎหมายเนื่องจากรัฐออกกฎหมายเกินข้อท้วงติงของอียู เช่น การขยายเวลาซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วและเครื่องมือติดตามเรือ รวมทั้งผ่อนปรนรายงานการทำงานไต้ก๋งเรือ ซึ่งอาจซึ่งอธิบดีกรมประมงเห็นควรว่าต้องแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้อง พร้อมทั้งประสานธนาคารพาณิชย์ให้เปิดตู้เอทีเอ็มเพื่อความสะดวกมากขึ้น