MOUตลาดกลางข้าวสารป่วน เอกชนไม่ปลื้มเงื่อนไขใหม่

ตลาดกลางข้าวสารลากต่ออีกรอบ “ตลาดไท” ไม่ปลื้มเงื่อนไขใหม่ พาณิชย์ขอปรับตลาดเป็นโชว์รูม ขีดเส้นยื่นอุทธรณ์ 28 ม.ค.นี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากกระทรวงพาณิชย์ได้คัดเลือกบริษัทเอกชนเพื่อให้เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งตลาดกลางข้าวสาร เมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา โดยสรุปให้ผู้ผ่านคุณสมบัติ 2 รายจากผู้สมัคร 3 ราย คือ บริษัท ไทยแอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจบริหารจัดการตลาดไท และบริษัท TCC Land Asset World ในเครือ TCC ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้บริหารตลาดต่อยอด เป็นผู้ชนะร่วมกัน เนื่องจากทั้ง 2 รายมีจุดอ่อนและจุดแข็งแตกต่างกัน โดยรายหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดภายในประเทศ และอีกรายเชี่ยวชาญด้านตลาดต่างประเทศ จึงได้พิจารณาที่จะให้ทั้ง 2 รายที่เสนอตัวเข้ามาทำตลาดกลางข้าวสารทั้ง 2 แห่ง

ก่อนหน้านี้ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมจะนัดให้ภาคเอกชนมาลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกระทรวงพาณิชย์ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2560 เพื่อให้ใช้เวลาในการเตรียมสถานที่ เตรียมความพร้อม และน่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงเดือนเมษายน 2561 แต่การนัดหมาย MOU ก็ถูกเลื่อนออกมาอีก 1 เดือน เป็นปลายเดือนมกราคม 2561 เพราะการเจรจายังไม่ลงตัว

แหล่งข่าวจากเอกชนกล่าวว่า กรมการค้าภายในได้ประสานเข้ามาเพื่อขอหารือถึงแนวทางการดำเนินการจัดตั้งตลาดกลาง โดยยืนยันว่าได้พิจารณาให้ 2 บริษัท เข้าร่วมโครงการตลาดกลางเช่นเดิม และมีเงื่อนไขใหม่ว่าจะให้ปรับจากตลาดกลาง เป็นโชว์รูมสำหรับจัดแสดงผลิตภัณฑ์ข้าวและรับรองผู้ซื้อต่างประเทศ ซึ่งเบื้องต้นก็ยังต่อรองกันยังไม่ได้ข้อสรุปตั้งแต่ปลายปี 2560 จนถึงขณะนี้คาดว่าจะต้องมีการยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 28 มกราคมนี้

“ทางตลาดไทยังไม่ยอมรับข้อเสนอ เพราะการปรับไปเป็นโชว์รูมยังไม่มีความชัดเจน และมองว่าหากทำเช่นนั้นก็ผิดกับหลักเกณฑ์ที่ทางกระทรวงให้เอกชนนำร่องตลาดกลางข้าวสารแห่งแรกของประเทศ ซึ่งทางตลาดไทได้เตรียมโครงการภายในล่วงหน้าไว้แล้ว และโปรโมตไปแล้วว่าหากจะเป็นตลาดกลางข้าวสารมีการลงทุนเพิ่ม อาจจะ 30-50 ล้านบาท และเตรียมเงื่อนไขพิเศษสำหรับเอกชนที่จะนำข้าวสารมาวางจำหน่าย เช่น ยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า และลดค่าโบรกเกอร์เหลือ 1% สำหรับข้าวธรรมดา และ 3% สำหรับข้าวไรซ์เบอรี่ การยกเลิกไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายก็จริง แต่ทุกอย่างเตรียมการไว้แล้ว”

อนึ่ง ผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกจะเป็นผู้บริหารจัดการตลาดกลาง และออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านสถานที่ การบริหารจัดการในตลาด และเปิดโอกาสให้เกษตรกร ผู้ค้าข้าว เข้ามาจำหน่ายในตลาด ส่วนกระทรวงพาณิชย์จะช่วยเหลือในการเชื่อมโยงเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ นำสินค้าเข้ามาขายในตลาดกลาง และช่วยในด้านการประชาสัมพันธ์ตลาดให้เป็นที่รู้จัก