น้ำมันพรีเมี่ยม คุ้มจริงหรือ

คอลัมน์ แตกประเด็น โดย อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล

ปัจจุบันบริษัทน้ำมันชั้นนำของประเทศ ได้แข่งขันกันจำหน่ายน้ำมันพรีเมี่ยมเพิ่มมากขึ้น ในราคาที่แพงกว่าน้ำมันปกติ 3-4 บาทต่อลิตร ทุกบริษัทก็โฆษณา บอกว่าน้ำมันของตัวเองมีคุณสมบัติเด่น ๆ เช่น กำจัดคราบตะกรัน เพิ่มความสะอาดระบบจ่ายน้ำมันปกป้องเครื่องยนต์ เพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ ประหยัดน้ำมัน มีค่าซีเทนสูง กำมะถันต่ำระดับมาตรฐานยูโร 5 น้ำมันบริสุทธิ์ สุดที่จะคิดขึ้นมาในด้านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สร้างความแตกต่าง เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้หันมาใช้น้ำมันคุณภาพดีราคาแพง

ที่น่าสนใจพบว่ายอดการใช้น้ำมันพรีเมี่ยมโดยเฉพาะดีเซล เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันอยู่ราว 2.3 ล้านลิตรต่อวัน จากปริมาณความต้องการของดีเซลทั้งหมด 61.7 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 3.7% และน่าจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ามีสถานีจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น และผู้ใช้น้ำมันมีความพึงพอใจ คุ้มค่า

ต้องยอมรับว่าบริษัทน้ำมันต่างชาติมีความสามารถในการสร้างสินค้าใหม่ และมีการส่งเสริมการตลาดที่ดี ทำให้น้ำมันดีเซลพรีเมี่ยมมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทน้ำมันคู่แข่งต้องร้อนตัวออกสินค้าใหม่เข้ามาแข่งขันแบบไม่มีใครยอมใคร ซึ่งเป็นเรื่องปกติในตลาดแข่งขันเสรี แต่ที่เป็นแรงจูงใจที่สำคัญคือค่าการตลาดของน้ำมันชนิดนี้สูงมากจนคาดไม่ถึงคือราว 4 บาทต่อลิตร จากค่าการตลาดปกติ 1.5 บาทต่อลิตร ถึงแม้จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการใส่สารเพิ่มคุณภาพชนิดต่าง ๆ หรือ additive มากกว่าความต้องการปกติและยอดขายน้ำมันต่อหัวจ่ายไม่สูงมาก แต่ค่าการตลาดที่สูงมาก ก็มีความคุ้มค่า

อีกทั้งการออกผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยมยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ในด้านนวัตกรรม เป็นผู้นำในธุรกิจ สร้างความเชื่อถือแก่ลูกค้าทั่วไปได้มาก ซึ่งมีโอกาสทำให้ลูกค้าหันมาใช้น้ำมันชนิดอื่น ๆ แต่สิ่งที่ลูกค้าทั่วไปควรจะได้รับรู้คือการใช้น้ำมันชนิดนี้ที่มีราคาแพงมากว่ามีความคุ้มค่าจริงหรือไม่ เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลปกติทั่วไป ถ้าไปตรวจสอบคุณสมบัติที่สำคัญ ก็จะพบว่าน้ำมันดีเซล กับดีเซลพรีเมี่ยมไม่ต่างกันเลย เป็นไปตามมาตรฐานของกรมธุรกิจพลังงาน ส่วนปริมาณ additive ชนิดต่าง ๆ ที่ใส่เพิ่มอาจไม่สามารถตรวจสอบได้ชัดเจน

เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าสินค้าทั่ว ๆ ไปที่จำหน่ายในราคาแพง กระทรวงพาณิชย์จะมีการตรวจสอบต้นทุนสินค้า ราคาจำหน่ายสูงไปหรือไม่ มีการเอากำไรมากเกินควรหรือไม่ เพื่อปกป้องประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าให้ได้รับความยุติธรรม แต่ในกรณีของน้ำมันดีเซลพรีเมี่ยม เป็นหน้าที่ของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ประชาชน ถึงแม้การจำหน่ายน้ำมันพรีเมี่ยมเป็นไปแบบเสรี และผู้ใช้นำมันก็ตัดสินใจเอง ยอมจ่ายในราคาแพง ตามความพอใจ ไม่มีการไปบีบบังคับ

แต่สิ่งที่กระทรวงพลังงานน่าจะทำคือให้ข้อมูลประชาชนที่ถูกต้อง โดยการนำน้ำมันพรีเมี่ยมของบริษัทต่าง ๆ ไปทดสอบคุณภาพตามที่โฆษณาโดยหน่วยงานกลาง เช่น มหาวิทยาลัยเปรียบเทียบกับน้ำมันดีเซลทั่วไป ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่า มีความคุ้มค่าหรือไม่ที่จะจ่ายแพงขึ้น และหันมาใช้น้ำมันพรีเมี่ยม

ปัจจุบันประชาชนได้รับข้อมูล โฆษณาจากบริษัทน้ำมัน แต่ไม่เคยรู้ว่าข้อเท็จจริงจะดีจริงเป็นอย่างที่อ้างหรือไม่ ไม่มีหน่วยงานที่ไหนมาช่วยเหลือและให้ข้อมูลได้ แต่ก็อาจจะหวังได้จากกระทรวงพลังงานยุคใหม่ ที่อาจจะเข้าใจความรู้สึกประชาชน และลงมือทำสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด ถือเป็นการปฏิรูปการทำงานของหน่วยงานรัฐในแนวทางให้บริการประชาชนมากขึ้น