ม.แม่โจ้ ผนึกกลุ่มมิตรผล นำงานวิจัยช่วยยกระดับภาคเกษตรกรรม

มหาวิทยาลัยแม่โจ้

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ลงนามร่วมกับกลุ่มมิตรผล แลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนางานวิจัย ยกระดับภาคเกษตรกรรม พร้อมหาวัตถุดิบ รับตลาด Plant Based 

วันที่ 31 ตุลาคม 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ลงนามร่วมกับ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัทในเครือ หรือกลุ่มมิตรผล ดำเนินงานด้านวิชาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้และสร้างขีดความสามารถในการบูรณาการด้านวิจัยและแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมร่วมกัน พร้อมทั้งร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการประยุกต์ใช้และถ่ายทอดเทคโนโลยีที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ผลงานวิจัย องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์รวมทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาร่วมกันตามพันธกิจของแต่ละฝ่าย โดยมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี 

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา

ด้านนายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเป็นเลิศด้านการเกษตรระดับนานาชาติ และมีประวัติยาวนานกว่า 88 ปี เพื่อนำความรู้และงานวิจัยมาต่อยอด พัฒนาศักยภาพของภาคเกษตรและโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

“ซึ่งมหาวิทยาลัยมีความพร้อมไปด้วยบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถสูง มีห้องปฏิบัติการ และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการ อีกทั้งยังมีความเชี่ยวชาญด้านพืชสมุนไพร ซึ่งพร้อมที่จะพัฒนาต่อยอดสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง หรือ BCG สอดคล้องกับความสนใจของกลุ่มมิตรผล เกี่ยวกับพืชสมุนไพร และวัตถุดิบที่จะนำไปเป็นส่วนผสมของ Plant Based ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต” 

นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ
นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ

ทั้งนี้ ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และความตั้งใจในการพัฒนาภาคเกษตรของกลุ่มมิตรผลที่จะร่วมมือกันและนำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น เทคนิคการเพิ่มจำนวนต้นอ้อยเพื่อการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว การใช้เทคโนโลยีพลาสมาเพื่อเพิ่ม Yield และเพิ่มความหวาน เพื่อเป็นพืชพลังงานในอนาคต จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความร่วมมือด้านวิชาการ การวิจัยที่เป็นประโยชน์ และสามารถต่อยอดทางเศรษฐกิจต่อไป