อว.ชี้ซื้องานวิจัยสำเร็จ ใส่ชื่อตนเอง ผิดจริยธรรมทางวิชาการร้ายแรง

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

อว.ชี้นักวิจัยซื้อผลงานแปะชื่อตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิชาการนานาชาติ ผิดจริยธรรมทางวิชาการร้ายแรง 

วันที่ 9 มกราคม 2566 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่าตามที่มีข่าวว่ามีนักวิจัยจำนวนหนึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ ผ่านการซื้อผลงานเพื่อให้ตัวเองได้มีชื่ออยู่ในบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ ทางกระทรวง อว. จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนและติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการผิดจริยธรรมทางวิชาการอย่างชัดเจน  

“ขอขอบคุณนักวิชาการและสื่อมวลชนที่ห่วงใยและได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกระทรวง อว.ว่ามีกลไกที่เป็นช่องโหว่ในการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการโดยที่บุคคลที่มีชื่ออยู่ในบทความนั้นอาจไม่ได้เป็นผู้วิจัยในโครงการจริง เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวดและจริงจัง หากพบว่าดำเนินการจริงต้องถือเป็นความผิดและลงโทษอย่างรวดเร็ว”  

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว.
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว.

ด้าน ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตาม พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 70 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใด จ้าง วาน ใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเพื่อใช้ในการทำผลงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ หรือเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น 

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้ผู้ใดรับจ้างหรือรับดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้ผู้อื่นนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือโดยสุจริตตามสมควร โดยหากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และยังมีประกาศเรื่อง มาตรฐานการวิจัย โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระบุถึงมาตรฐานการเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการ รวมทั้งจริยธรรมนักวิจัยด้วย

ดังนั้น การที่มีนักวิจัยได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ ผ่านการซื้อผลงานเพื่อให้ตัวเองได้มีชื่ออยู่ในบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ จึงเป็นการผิดจริยธรรมทางวิชาการ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยมีหน้าที่ในการเคร่งครัดดูแลให้บุคลากรดำเนินการให้ถูกต้องไม่ผิดหลักจริยธรรม และสำนักงานปลัดกระทรวง อว. โดยคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ) และคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) จะต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

ปลัดกระทรวง อว.กล่าวต่อว่า กระทรวง อว. ได้แจ้งย้ำไปยังที่ประชุมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน และหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ให้ตรวจสอบข้อมูลของบุคลากรอย่างใกล้ชิด ตามแนวทางในการกำกับจริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานวิจัย รวมทั้งการนำผลงานที่ผิดจริยธรรมมาขอตำแหน่งวิชาการ หากตรวจพบประเด็นใดให้ดำเนินการทันทีและป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำในลักษณะนี้อีก

“กระทรวง อว. ได้จัดให้มีทีมงานส่วนกลางเข้าไปตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึกแล้ว ขอขอบคุณท่านที่ได้ให้ข้อมูลมายังสำนักปลัดกระทรวง อว. (สป.อว.)  และหากมีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมสามารถแจ้งข้อมูลมายัง สป.อว. ได้ทันที” ปลัดกระทรวง อว. กล่าว