ทำความรู้จักโรงเรียนสาธิตพัฒนา หลังแสนสิริขายกิจการ 1.2 พันล้าน

ทำความรู้จักโรงเรียนสาธิตพัฒนา หลังแสนสิริขายกิจการ 1.2 พันล้าน
เครดิตภาพจากเฟซบุ๊กโรงเรียนสาธิตพัฒนา Satit Pattana School

ทำความรู้จักโรงเรียนสาธิตพัฒนา หลังบริษัทลูกแสนสิริ ขายกิจการให้ เดอะ เบสท์ เอ็ดดูเคชั่น ทั้งที่ดินสิ่งปลูกสร้าง-ใบอนุญาตประกอบกิจการ มูลค่า 1.2 พันล้านบาท

วันที่ 29 มีนาคม 2566 จากกรณีที่บริษัท เอ็นอีดี แมเนจเม้นท์ จำกัด และบริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI อนุมัติขายกิจการ “โรงเรียนสาธิตพัฒนา” พร้อมที่ดินสิ่งปลูกสร้าง-ใบอนุญาตประกอบกิจการให้แก่ บริษัท เดอะ เบสท์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ในราคาซื้อขายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,210 ล้านบาท 

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมประวัติโรงเรียนสาธิตพัฒนา รวมถึงความน่าสนใจของหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีชื่อเสียงด้านมาตรฐานเทียบเท่ากับโรงเรียนนานาชาติ และค่าเทอมของแต่ละชั้นปีในปีการศึกษา 2566 ดังต่อไปนี้ 

จาก “โรงเรียนบ้านของเล่น” สู่ “สาธิตพัฒนา”

สำหรับโรงเรียนสาธิตพัฒนา เป็นโรงเรียนเอกชน เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตั้งอยู่ถนนปัญญาอินทรา แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร โดยมี บริษัท เนชั่นแนล เอ็ดยูเคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (NED) ซึ่งเป็นชื่อเดิมของ บริษัท เอ็นอีดี แมแนจเม้นท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินกิจการด้วยทุนจดทะเบียน 40,000,000 บาท

หากย้อนกลับไปช่วงเริ่มต้น เกิดจากมูลนิธินวัตกรรมการศึกษาได้ทำบันทึกข้อตกลงกับ บริษัท แสนสิริ รามอินทรา จำกัด เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2549 ขออนุญาตจัดตั้ง “โรงเรียนบ้านของเล่น” เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 จากนั้นได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนบ้านของเล่น เป็น “โรงเรียนอนุบาลต้นกล้าสาธิต” เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 

ต่อมาได้ขออนุญาตจัดตั้งเป็น “โรงเรียนสาธิตพัฒนา” โดยร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดการเรียนการสอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

หลังจากนั้นในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ได้โอนกิจการโรงเรียนอนุบาลต้นกล้าสาธิต และโรงเรียนสาธิตพัฒนาให้กับ บริษัท เนชั่นแนล เอ็ดยูเคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นผู้รับใบอนุญาต และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอ็นอีดี แมแนจเม้นท์ จำกัด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2555 และเป็นผู้รับใบอนุญาตในปัจจุบัน  

วันที่ 16 พฤษภาคม 2551 โรงเรียนอนุบาลต้นกล้าสาธิตและโรงเรียนสาธิตพัฒนาได้เข้าร่วมกิจการโดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนสาธิตพัฒนา” โดยขยายชั้นเรียนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และวันที่ 16 พฤษภาคม 2554 โรงเรียนสาธิตพัฒนา ได้ขยายชั้นเรียนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงปัจจุบัน 

มาตรฐานเทียบเท่าโรงเรียนนานาชาติ

สำหรับการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตพัฒนา ระดับอนุบาลจะเน้นการเรียนแบบสนุกสนาน ส่วนระดับประถมศึกษาเรียนวิชาพัฒนาทักษะชีวิต ค้นหาศักยภาพตนเอง และระดับมัธยมศึกษาขึ้นไปจะเน้นการสำรวจความถนัดหรือความสนใจ

โดยโรงเรียนสาธิตพัฒนา มีชื่อเสียงด้านสิ่งอำนวยความสะดวกมาตรฐานโรงเรียนนานาชาติ ในระดับมัธยมได้ร่วมมือกับ บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด องค์กรอันดับหนึ่งด้านการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาของประเทศไทย ในการพัฒนาหลักสูตรและแผนการเรียนการสอน ด้วยวัตถุประสงค์ในการสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ ควบคู่กับการพัฒนาทักษะชีวิตที่จำเป็นในอนาคต 

โดยความร่วมมือจะมีทั้งในเชิงของการพัฒนาหลักสูตร อาทิ การใช้หลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษตามมาตรฐาน Cambridge (CAIE) ในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษทั้ง 4 ด้าน (English 4 skills) ได้แก่ ฟัง พูด อ่าน เขียน โดยมุ่งเน้นให้เด็กนักเรียน สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้จริงทั้งในการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน นอกห้องเรียนและในอนาคต

และพัฒนาแผนการเรียนการสอน Individual Development Plan แผนการเรียนตามเป้าหมายรายบุคคล หรือ IDP ซึ่งเป็นการวางแผนโดยมุ่งเน้นเป้าหมาย จุดแข็งและความถนัดของนักเรียนแต่ละคน และนำมาสร้างเป็นแผนการเรียนการสอนตลอดระยะเวลา 6 ปี เพื่อให้นักเรียนสามารถค้นพบศักยภาพของตนเอง เพื่อให้นักเรียนสามารถบรรลุเป้าหมาย ทั้งในด้านการเลือกสาขาวิชาเรียนต่อในรั้วมหาวิทยาลัย และการเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับความสามารถของตนเอง

ทำความรู้จักโรงเรียนสาธิตพัฒนา หลังแสนสิริขายกิจการ 1.2 พันล้าน
เครดิตภาพจากเฟซบุ๊กโรงเรียนสาธิตพัฒนา Satit Pattana School

อัพเดตค่าเทอมปี 2566

อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา ปีการศึกษา 2566 มีดังต่อไปนี้ 

ระดับอนุบาล-ป.6 

  • เตรียมอนุบาล ประมาณ 63,500 บาทต่อภาคเรียน  (ปีละ 127,000 บาท)
  • อนุบาล 1-3 ประมาณ 63,500 บาทต่อภาคเรียน (ปีละ 127,000 บาท)
  • ประถมศึกษาปีที่ 1 ประมาณ 74,000 บาทต่อภาคเรียน (ปีละ 148,000 บาท)
  • ประถมศึกษาปีที่ 2 ประมาณ 80,000 บาทต่อภาคเรียน (ปีละ 160,000 บาท)
  • ประถมศึกษาปีที่ 3 ประมาณ 86,000 บาทต่อภาคเรียน (ปีละ 172,000 บาท)
  • ประถมศึกษาปีที่ 4-6 ประมาณ 89,000 บาทต่อภาคเรียน (ปีละ 178,000 บาท)

อัตราค่าธรรมเนียมอื่น ๆ  (บาท/ปี)

  • ระดับอนุบาล ค่าแรกเข้า 20,000 บาท ชำระครั้งเดียว ค่าอาหารว่างและอาหารกลางวัน 17,000 บาท แบ่งเก็บภาคเรียนละเท่า ๆ กัน ค่ารถรับส่งประมาณ 9,900 บาท คิดตามระยะทาง
  • ระดับประถมศึกษา ค่าอาหารว่างและอาหารกลางวัน 19,000 บาท แบ่งเก็บภาคเรียนละเท่า ๆ กัน ค่ารถรับส่งประมาณ 25,000 บาท คิดตามระยะทาง

ระดับมัธยมศึกษา 

มัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ค่าแรกเข้า 50,000 บาท ชำระครั้งเดียวเมื่อยืนยันสิทธิเข้าเรียน ค่าบำรุงการศึกษา 25,000 บาท ชำระปีการศึกษาละ 1 ครั้ง

มัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีละ 280,000 บาท แบ่งเป็น 

  • ภาคเรียนที่ 1 ค่าธรรมเนียมการศึกษา 130,000 บาท ค่าอาหารกลางวัน 10,000 บาท
  • ภาคเรียนที่ 2 ค่าธรรมเนียมการศึกษา 130,000 บาท ค่าอาหารกลางวัน 10,000 บาท

มัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีละ 277,250 บาท แบ่งเป็น 

  • ภาคเรียนที่ 1 ค่าธรรมเนียมการศึกษา 128,625  บาท ค่าอาหารกลางวัน 10,000 บาท
  • ภาคเรียนที่ 2 ค่าธรรมเนียมการศึกษา 128,625 บาท ค่าอาหารกลางวัน 10,000 บาท

มัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีละ 256,250 บาท แบ่งเป็น 

  • ภาคเรียนที่ 1 ค่าธรรมเนียมการศึกษา 118,125  บาท ค่าอาหารกลางวัน 10,000 บาท
  • ภาคเรียนที่ 2 ค่าธรรมเนียมการศึกษา118,125 บาท ค่าอาหารกลางวัน 10,000 บาท

มัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีละ 280,000 บาท แบ่งเป็น 

  • ภาคเรียนที่ 1 ค่าธรรมเนียมการศึกษา 130,000 บาท ค่าอาหารกลางวัน 10,000 บาท
  • ภาคเรียนที่ 2 ค่าธรรมเนียมการศึกษา 130,000 บาท ค่าอาหารกลางวัน 10,000 บาท

มัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีละ 277,250 บาท แบ่งเป็น 

  • ภาคเรียนที่ 1 ค่าธรรมเนียมการศึกษา 128,625 บาท ค่าอาหารกลางวัน 10,000 บาท
  • ภาคเรียนที่ 2 ค่าธรรมเนียมการศึกษา128,625 บาท ค่าอาหารกลางวัน 10,000 บาท

มัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีละ 256,250 บาท แบ่งเป็น 

  • ภาคเรียนที่ 1 ค่าธรรมเนียมการศึกษา 118,125  บาท ค่าอาหารกลางวัน 10,000 บาท
  • ภาคเรียนที่ 2 ค่าธรรมเนียมการศึกษา 118,125 บาท ค่าอาหารกลางวัน 10,000 บาท

ทั้งนี้ อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษายังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าชุด อุปกรณ์การเรียน และค่าหอพัก

อย่างไรก็ตาม การขายทรัพย์สินและสิทธิเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียนสาธิตพัฒนา ได้แก่ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียน พร้อมด้วยใบอนุญาตประกอบกิจการโรงเรียน ให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งเป็นผลให้กิจการโรงเรียนโอนไปยังผู้ซื้อ โดยครู พนักงาน และลูกจ้างของโรงเรียนที่มีอยู่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ