จุฬาฯ ร่วม 3 มหาวิทยาลัยในภูมิภาค สร้างแพลตฟอร์มเครือข่ายวิจัย

จุฬาร่วมมหาวิทยาลัยในภูมิภาค สร้างเครือข่ายวิจัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยนเรศวร สร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านงานวิจัย ให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับชาติ

วันที่ 28 มิถุนายน 2566 ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าจุฬาฯ ต้องการเปิดพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงนักวิจัยจุฬาฯ กับ 3 มหาวิทยาลัยในภูมิภาคที่มีจุดสนใจเหมือนกันมารวมตัวกันเพื่อตอบโจทย์ที่สำคัญของภูมิภาคและประเทศ โดยงานวิจัยจะเน้นไปในด้านการแก้ปัญหาสังคมเป็นหลัก โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาดำเนินการด้วย

โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เชื่อมประสานแพลตฟอร์มวิจัยเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง 4 มหาวิทยาลัยเพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการ สร้างประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมร่วมกัน จนกระทั่งสามารถรวมกันเป็นเครือข่ายที่มีแนวทางการดำเนินงานชัดเจน นำร่องรูปแบบของแพลตฟอร์มวิจัยที่สามารถขยายได้ทั้งกลุ่มนักวิจัยร่วมในประเทศและต่างประเทศ

เป้าหมายของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาคน และคนไปพัฒนาพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยความรู้จากหลากหลายมุมมองที่แตกต่าง และมีความเข้าใจในปัญหาอย่างแท้จริง ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ สนับสนุนให้นำความรู้มาใช้ร่วมกันให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ คน และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล

ศ.ดร.จักรพันธ์กล่าวต่อว่า จุฬาฯ มองเห็นโอกาสในการพัฒนาโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ตามภูมิภาค ภายใต้แนวคิด “Bridging Communities” และ “Advancing Knowledge” หลังจากการสำรวจข้อมูลภาคสนามเพื่อศึกษาสถานการณ์และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการวิจัยร่วมนั้น ปัจจุบันมีโครงการนำร่องจาก 3 ภูมิภาค ดังนี้

ภาคตะวันออก : มหาวิทยาลัยบูรพา

  • การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism) : ส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างจิตสำนึก ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในจังหวัดชลบุรี
  • สังคมสูงวัย : พัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยในชุมชนเมือง โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะใช้ องค์ความรู้จากโครงการวิจัย “จุฬาอารี” และ “ไทยอารี” ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบที่ประสบ ความสำเร็จในระดับประเทศ
  • บางแสนสร้างสรรค์ : เติมสีสันให้เมืองมีชีวิตด้วยศิลปะ การพัฒนากระตุ้นเศรษฐกิจแบบ “Soft power” ด้วยเทศกาล โดยมีต้นแบบจากเทศกาล “สามย่านละลานใจ” ซึ่งใช้ศิลปะการละครเป็นสื่อเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยพะเยา

  • การสร้างคุณค่าร่วมกันเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์พื้นที่ยอด-ภูลังกา เชื่อมต่อเส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่ระหว่างจังหวัดพะเยาและจังหวัดน่าน ภายใต้แนวคิดการท่องเที่ยวมูลค่าสูง (High Value Tourism)

ภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร

  • ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองมหาวิทยาลัย กรณีศึกษาเมืองพิษณุโลก ภายใต้แนวคิดการพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อเมือง และเมืองเพื่อมหาวิทยาลัย ให้เป็นต้นแบบการพัฒนาเมือง มหาวิทยาลัยในอนาคต

นอกจากนี้ ภายใต้ความร่วมมือในโครงการนี้ยังมีความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ อาทิ National University of Singapore สาธารณรัฐสิงคโปร์ และ Kyushu University ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

ด้าน ศ.ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่าการร่วมงานกัน 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยนเรศวร ทำให้เกิดความรู้สึกเกินความคาดหมาย และภาคภูมิใจ เพราะตอนแรกที่คิดไว้ มหาวิทยาลัยพะเยาจะร่วมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ ยอด-ภูลังกา (น่าน-พะเยา) เส้นทางราว 50-60 กิโลเมตร

แต่เมื่อมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยมาร่วมด้วยช่วยกันมากขึ้น ทำให้เกิดการขยายเส้นทางท่องเที่ยวไปยังพิษณุโลก กรุงเทพฯ และชลบุรี ซึ่งแน่นอนว่าเส้นทางได้ขยายเกินที่ตั้งเป้าไว้ การทำงานร่วมกันระหว่าง 4 มหาวิทยาลัยยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงสังคมได้อย่างสร้างสรรค์ เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยเครือข่ายมีจุดแข็งต่างกัน เมื่อมารวมตัวกันก็ยิ่งทำให้งานวิจัยแข็งแกร่ง ในอนาคตสามารถนำชุมชนแต่ละจังหวัดมาพบกัน และแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้อีกทางหนึ่ง

ศ.ดร.จิตติมา เจริญพานิช รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยบูรพามีความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยด้านงานวิจัย สร้างเครือข่ายวิจัยระดับท้องถิ่นสู่เครือข่ายวิจัยระดับนานาชาติ และส่งเสริมให้นักวิจัยระดับนานาชาติร่วมพัฒนางานวิจัยในระดับท้องถิ่นโดยมีเป้าหมายให้เกิดผลกระทางสังคมและเศรษฐกิจ ผ่านแผนการดำเนินงาน 3 Platform ได้แก่ Health Aging, Carbon Neutrality และ Performing Art

โดยได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่อสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างศักยภาพการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยว สร้างความยั่งยืนให้แก่ผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี

ศ.ภญ.ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวร เริ่มต้นด้วยการวิจัยเรื่อง University-Urban Design and Development หรือเมืองมหาวิทยาลัย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเริ่มต้นความร่วมมือในครั้งนี้จะขยายผลไปยังการวิจัยในประเด็นอื่น ๆ โดยได้รับความร่วมมือด้วยดีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยพะเยา

ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นพันธมิตรด้านการวิจัยที่จะร่วมกันในการเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการผลักดันการวิจัยด้วยการพัฒนาศักยภาพของชุมชน สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยให้มีผลกระทบสูงต่อสังคม เพิ่มขีดความสามารถทางการวิจัย และสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่อย่างเข้มแข็ง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และภูมิภาคต่อไป