จุฬาฯ ชูธงมหา’ลัยขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย ผ่านวิจัยและนวัตกรรม

จุฬา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาฯ ชูธงร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยซอฟต์พาวเวอร์ไทย ผ่านงานวิจัยและนวัตกรรม แนะ 2 ปัจจัยหนุนพลังวัฒนธรรมให้แข็งแกร่ง

วันที่ 25 กันยายน 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล Chief Brand Officer ของจุฬาฯ และหัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) องค์การมหาชน กล่าวว่า จากกระแสซอฟต์พาวเวอร์ไทย (Thai Soft Power) กำลังมาแรง

ไม่ว่าจะเป็นกระแส “ลิซ่า วง BlackPink แต่งผ้าซิ่นไทยทัวร์วัดอยุธยา” ที่ทำให้ผ้าไทยโด่งดังไปทั่วโลก มียอดขายถล่มทลาย “ไอศกรีมลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณฯ” ของหวานสุดครีเอทีฟ ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศแห่เดินทางมาลิ้มลอง “ฟีเวอร์กางเกงลายช้าง” แฟชั่นยอดฮิตของนักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทย ลามมาถึงคนไทยเองต้องซื้อหามาใส่ด้วยเพื่อให้ “อินเทรนด์”

และล่าสุด ซีรีส์เกาหลี “King the Land” ที่ฉายทาง Netflix มีฉากตัวละครเอกเดินทางมาเมืองไทย ไหว้พระที่วัดอรุณฯ นั่งเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยา นั่งตุ๊กตุ๊ก กินก๋วยจั๊บญวนเจ้าดัง และน้ำแตงโมปั่น ฯลฯ จนเกิดเป็นทริปตามรอยซีรีส์ที่นักท่องเที่ยวต้องมาเช็กอิน

กระแสซอฟต์พาวเวอร์ไทยเหล่านี้ช่วยปลุกเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากที่ซบเซาในช่วงวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 (2563-2565) จำนวนนักท่องเที่ยวลดฮวบกว่า 100 เท่าตัว แต่ในปี 2566 นี้ การท่องเที่ยวเติบโตขึ้นถึง 80% และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากกว่า 30 ล้านคน เดินทางมาเที่ยวเมืองไทย เราไม่ควรปล่อยให้กระแสซอฟต์พาวเวอร์ของไทยที่เกิดขึ้นแล้วเหล่านี้แผ่วหรือผ่านไปตามกาลเวลา แต่ทุกภาคส่วนควรช่วยกัน “ปลุกปั้น” เสริมพลังซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้ไปต่ออย่างยั่งยืน

Advertisment

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกก์กล่าวต่อว่า เราอาจมองชอฟต์พาวเวอร์ไทยได้หลายมิติ ยกตัวอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่แบ่งซอฟต์พาวเวอร์ไทยเป็น 5F ได้แก่

  1. Food – อาหาร
  2. Festival – งานเทศกาล
  3. Fighting – ศิลปะการต่อสู้
  4. Fashion – ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น
  5. Film – ภาพยนตร์

ซึ่ง 5F ดังกล่าวเป็นกรอบเชิงรูปธรรมที่ช่วยให้เราเห็นและเข้าใจซอฟต์พาวเวอร์แบบจับต้องได้ว่ามีประเภทหรือเกี่ยวกับเรื่องใดบ้าง อย่างไรก็ดี ซอฟต์พาวเวอร์ไทยยังเป็นเรื่องของคุณสมบัติหรือคุณลักษณะด้วย ขออ้างถึงการศึกษา “Soft Power แบบไทย” โดย Kellogg School of Management มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ได้ทำวิจัยกับผู้บริหารองค์กรทั่วโลกราว 50 คน ที่เคยปฏิสัมพันธ์กับคนไทยและองค์กรไทย ผลการศึกษาได้เผยให้เห็นมุมมองของซอฟต์พาวเวอร์แบบไทย ๆ ว่ามีคุณลักษณะ 5 ประการ หรือ 5F ได้แก่

  1. Fun
  2. Flavoring
  3. Fulfilling
  4. Flexibility
  5. Friendliness
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล

“ซอฟต์พาวเวอร์แบบไทย ๆ ไม่ควรจะแข็ง ๆ หรืออยู่ในกรอบที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ เพราะคนไทยมีวัฒนธรรมหรือมุมมองซอฟต์พาวเวอร์ที่ผสมผสานได้ เอาชาตินั้นเข้ามานิด เอาชาตินี้เข้ามาหน่อย ยกตัวอย่าง เช่น งานแห่ดาวต้นคริสต์มาสของชุมชนบ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นชุมชนชาวคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีการเริ่มทำดาวและประดับประดารถบุษบกใช้ในขบวนแห่ จนกลายเป็นประเพณีแห่ดาวที่จัดเป็นประจำทุกปี เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมตะวันตกได้อย่างน่ารัก และได้รับการยอมรับ เพราะคนไทยมีความยืดหยุ่นและเป็นมิตรสูงมาก

จริง ๆ แล้ว วัฒนธรรมหรือซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศอื่น ๆ ก็มีความสนุกและมีสีสันเช่นกัน แต่ประเทศไทย เรามี Flexibility ความยืดหยุ่น สบาย ๆ Friendliness ความเป็นมิตร ซึ่งทำให้เมื่อเอาไปปนหรือผสมผสานกับใครก็ไม่หาย”

Advertisment

สร้าง Soft Power ไทยให้แข็งแกร่ง

ผศ.ดร.เอกก์กล่าวอีกว่า แม้ซอฟต์พาวเวอร์แบบไทย ๆ จะมีจุดแข็ง แต่การผลักดันแบรนด์ให้ทรงพลังยิ่งขึ้นก็จำเป็นต้องมีโฟกัสที่ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในส่วนของลูกค้าและคู่ค้า

“ข้อดีมาก ๆ ของซอฟต์พาวเวอร์ไทยคือความหลากหลาย แต่หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เรายังไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนักคือการขาดความเข้าใจในกลุ่มเป้าหมาย เรามีความหลากหลายก็จริง แต่เราก็ไม่สามารถเอาทุกสิ่งที่ดี ๆ ส่งให้ทุกคนได้ กิจกรรมบางอย่างเหมาะกับความชอบหรือจริตของคนบางกลุ่มเท่านั้น ดังนั้น เมื่อกลุ่มเป้าหมายไม่ชัด ก็ทำให้ความหลากหลายนั้นมากเกินไป ภาพของซอฟต์พาวเวอร์ไทยจึงอาจเบลอได้”

นอกจากลูกค้ากลุ่มเป้าหมายแล้ว การหาคู่ค้าและช่องทางจำหน่ายและเผยแพร่ที่มีประสิทธิภาพ ก็มีส่วนผลักดัน Soft Power ไทยด้วย ยกตัวอย่างเวทีมวยสำคัญ ๆ ที่สามารถร่วมมือกับของไทย แล้วเอาวัฒนธรรมของไทยไปสร้างเป็นการแข่งขันระดับโลก หรือการร่วมมือกับสื่อระดับโลกอย่าง Netflix นำเรื่องราวอาหารสตรีตฟู้ดของไทยที่โดดเด่นอย่างเจ๊ไฝขึ้นฉายไปทั่วโลก

2 ท. หนุน Soft Power ไทยพุ่งทะยาน

ผศ.ดร.เอกก์ชี้ปัจจัยสำคัญ 2 เรื่องที่จะช่วยให้ Soft Power ไทยพุ่งทะยานต่อไปในอนาคต ได้แก่

  • ท.ทักษะ คือทักษะการพัฒนาและการผลิตสินค้าและบริการของคนไทยไม่แพ้ใครอยู่แล้ว แต่ทักษะที่ต้องปรับและเรียนรู้ให้เก่งขึ้นคือ ทักษะทางการตลาดในเรื่องของการกระจายสินค้าและบริการ และทักษะการสร้างแบรนด์และทำภาพลักษณ์ที่โดดเด่น

ยกตัวอย่างแนวทางการทำการตลาดแบบซอฟต์ ๆ ว่า เราทำการตลาดได้ แต่ไม่จำเป็นต้องยัดเยียด โดยเลือกใช้วิธีการเนียน ๆ แบบน้ำซึมบ่อทราย ซึ่งต้องใช้เวลา อย่างเช่น แบรนด์ “มูจิ” (Muji) ของประเทศญี่ปุ่น เขาใช้ซอฟต์พาวเวอร์แทรกเข้าไปในวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยที่ไม่เคยโฆษณาเลย และใช้วัฒนธรรมญี่ปุ่นในเรื่องของ Harmony ความกลมกลืน ความเป็นธรรมชาติ เข้าไปสอดแทรกในบ้านของคน เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าของคนที่ใส่ โดยไม่ได้บอกเลยว่าอันนี้ญี่ปุ่น นี่คือพลังซอฟต์พาวเวอร์แบบที่ไม่ต้องยัดเยียด เมืองไทยก็ทำได้เช่นเดียวกัน

  • ท.ทรัพยากร งบประมาณในการสร้างและเผยแพร่ Soft Power เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้พลังนี้เคลื่อนต่อไปได้ และสร้างพลังทางเศรษฐกิจให้ประเทศ แต่เมื่อมาดูงบประมาณที่ใช้กับ Soft Power เทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลีใต้แล้ว งบประมาณของเรายังน้อยกว่ามาก

“ระดับทรัพยากรที่ต่างกัน มันก็สู้กันยากมากเหมือนกัน ในทางการตลาดนั้น มี 3 อย่างที่ต้องคำนึงถึงเสมอ คือ เงิน เวลา และแรงงาน (คน) ถ้าใช้เงินน้อย ก็ต้องใช้เวลามากขึ้น ถ้าใช้เวลาน้อย ก็จะต้องใช้แรงมาก มันไม่มีอะไรที่ใช้เงินน้อย เวลาน้อย แรงงานน้อย แล้วจะประสบความสำเร็จได้”

จุฬาฯ ชูธง มหา’ลัย ขับเคลื่อน Soft Power

ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ จุฬาฯ มีบทบาทในการพัฒนาคนที่จะเป็นผู้นำในการผลักดันและสร้างสรรค์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ผ่านหลักสูตรต่าง ๆ ในหลายคณะวิชา เช่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ ครุศิลป์ (สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์ ฯลฯ ที่มีการศึกษาวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องและใช้ Soft Power ในการขับเคลื่อนสังคม

นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังเปิดหลักสูตรเฉพาะเพื่อสร้างฐานความรู้ด้าน Soft Power เช่น หลักสูตรปริญญาโทด้านการจัดการวัฒนธรรมของบัณฑิตวิทยาลัย ที่เปิดมายาวนานและมีการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่เสมอ

“หลักสูตรต่าง ๆ ในจุฬาฯ มีส่วนสร้างคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นผู้นำแห่งอนาคตในการช่วยขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยต่อไป” ตัวอย่างองค์ความรู้ งานวิจัย และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power ที่ชาวจุฬาฯ ได้ร่วมสร้างสรรค์สู่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา ศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว เศรษฐกิจธุรกิจ ได้แก่

  • แอปพลิเคชั่นอินไซต์วัดโพธิ์ สำหรับการท่องเที่ยววัดโพธิ์ ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
  • โครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล ของคณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
  • คอร์สสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ ศูนย์ภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ
  • โครงการนวัตกรรมละครโทรทัศน์เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรม 4.0 ของศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา เพื่อร่วมส่งออกวัฒนธรรม Soft Power ไทย ผ่านสื่อบันเทิง ได้แก่ ผัดไทย (วัฒนธรรมอาหาร) มวยไทย (ศิลปะการต่อสู้) ย่านลิเภา (แฟชั่นไทย) และผีตาโขน (เทศกาล) โดยการสนับสนุนจากศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาฯ และสำนักข่าว ThaiPBS
  • งานวิจัยโมเดลพัฒนาทุนวัฒนธรรมผ้าทอครบวงจร ตั้งแต่การสร้างนวัตกรรมเส้นใยสิ่งทอและนำมาออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ เพื่อยกระดับแบรนด์ท้องถิ่นสู่สากล ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และพัฒนาการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ หนุนชุมชนยั่งยืน
  • โครงการ Chula Art Park ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จัดขึ้นบริเวณสวนหลวงสแควร์ นอกจากจะเป็นการจัดวางศิลปกรรมและประติมากรรมแล้ว ยังมีการเปิดบทเพลงให้ผู้คนในละแวกนั้นได้รู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ เป็นการนำดนตรีบำบัด (music therapy) ซึ่งเป็น Soft Power แบบหนึ่งมาขับเคลื่อนความสุขในสังคม
  • งานวิจัย Top Corporate Brand Success Valuation ของภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ซึ่งทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 แล้ว เพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาแบรนด์ขององค์กรไทยและองค์กรใน ASEAN ฯลฯ

“นอกจากนี้ ชาวจุฬาฯ ทั้งคณาจารย์และนิสิตเก่าจุฬาฯ จำนวนมากก็เข้าไปมีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และช่วยขับเคลื่อนผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ในเชิงนโยบายด้วย นี่คือสิ่งที่จุฬาฯ ทำมาตลอดเพื่อร่วมขับเคลื่อนพลังซอฟต์พาวเวอร์ไทย เราสร้าง Future Leaders for Soft Power และจะยังคงทำต่อไปเพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน”