เด็กเกิดใหม่ในไทยลดลงต่อเนื่อง หมดยุค “ประชากรรุ่นเกิดล้าน”

เด็กเกิดใหม่

อัตราเด็กเกิดใหม่ในไทยลดลงต่อเนื่อง หมดยุค “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” จากอดีตเด็กเกิดปีละล้าน ปัจจุบันเหลือเพียง 4 แสนคน รัฐบาลผุดนโยบายส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ

วันที่ 9 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเด็กแห่งชาติปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 13 ม.ค. รัฐบาลได้ทุ่ม 12 ล้านบาท ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดงานวันเด็กทั่วประเทศ โดยไฮไลต์มีทั้งกิจกรรมความสนุก แจกของขวัญ พร้อมทั้งพาเด็กเก่งสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ 1,220 คน เข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กไทย ถือเป็นปีที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของเด็กมากขึ้น

อัตราเด็กเกิดใหม่ทั่วโลกต่ำ

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทั่วโลกประสบปัญหาเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐเปิดเผยว่า ตลอดทั้งปี 2566 ทั่วโลกมีอัตราประชากรเกิดใหม่เพิ่มขึ้นราว 75 ล้านคน

อย่างไรก็ตามอัตราประชากรเกิดใหม่ปี 2566 ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยเพิ่มขึ้นไม่ถึง 1% และคาดว่าในปี 2567 ทุก ๆ วินาทีจะมีอัตราการเกิดโดยเฉลี่ยที่ 4.3 คน และอัตราการตายเฉลี่ยที่ 2 คนทั่วโลก

แต่อย่างไรก็ตามยังเป็นเรื่องยากที่จะประเมินตัวเลขประชากรโลกได้อย่างแม่นยำชัดเจน เนื่องจากหลายประเทศที่มีประชากรจำนวนมากยังมีข้อมูลที่ไม่แน่นอน เช่น อินเดียที่ไม่ได้มีการสำรวจสำมะโนประชากรมาเกิน 10 ปีแล้ว และอีกหลายประเทศยังขาดระบบทะเบียนราษฎร์ และสถิติบันทึกการเกิดใหม่และการเสียชีวิตที่แม่นยำ

เด็กเกิดใหม่ในไทยลดลงเหลือ 4 แสน

ในส่วนของประเทศไทยก็เช่นกัน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเอาไว้ว่า การลดลงของเด็กเกิดใหม่ในไทยอยู่ในขั้นวิกฤต จากเดิมมีเด็กเกิดไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ในช่วงปี พ.ศ. 2506 – 2526 ลดลงเหลือ 485,085 คน ในปี พ.ศ. 2564 ในขณะที่มีจำนวนการตาย 550,042 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนการเกิดถึง 64,957 คน

ทำให้ตั้งแต่ปี 2565 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้หากปล่อยให้อัตราการเกิดน้อยลงต่อไปเรื่อย ๆ ในระยะยาวจะส่งผลให้ประเทศไทย มีประชากรเหลือเพียง 33 ล้านคน ในอีก 60 ปีข้างหน้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร และการพัฒนาประเทศด้านสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต

รัฐกับนโยบายส่งเสริมการมีบุตร

นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า สาเหตุสำคัญของการไม่มีลูก มาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เอื้อต่อการมีลูก มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่มาจากปัญหาด้านสุขภาพ ดังนั้นหากยังไม่มีมาตรการจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจมีบุตร บนพื้นฐานของสิทธิส่วนบุคคล ก็จะไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดได้

ในปี 2566 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรเข้าสู่วัยแรงงาน (อายุ 20 – 24 ปี) ไม่สามารถชดเชยจำนวนประชากรที่ออกจากวัยแรงงาน (60 – 64 ปี) ได้ และช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรเข้าและออกจากวัยแรงงานจะกว้างมากขึ้น เสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน ภาวะพึ่งพิงต่อวัยทำงานสูงขึ้น มีงบประมาณในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

“กระทรวงสาธารณสุข จึงเร่งผลักดันให้การส่งเสริมการมีบุตรเป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยสาระสำคัญที่พิจารณาคือ มาตรการส่งเสริมการมีบุตร ทั้งเรื่อง ความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว

การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก และการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่ใช้ชีวิตคู่ไม่อยากจดทะเบียนสมรส กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสด สาวโสดที่อยากมีลูกแต่ไม่อยากมีบุตร ให้มีโอกาสมีลูกได้ โดยบูรณาการร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง”

นอกจากนี้ รัฐได้มีการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวผู้มีรายได้น้อย โดยการจ่ายเงินอุดหนุนบุตรแรกเกิดไปจนถึง 6 ขวบ คนละ 600 บาท/เดือน เป็นโครงการของกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดสวัสดิการให้กับเด็กแรกเกิด ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคน ต่อครัวเรือน ไม่เกิน 100,000 บาทด้วย

อีก 60 ปีประชากรไทยลดเหลือ 33 ล้านคน

ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ กล่าวว่า ใน 60 ปีข้างหน้าจำนวนประชากรไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน

ในปี 2626 จำนวนประชากรวัยแรงงาน (ช่วงอายุ 15 ถึง 64 ปี) จะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน จำนวนประชากรวัยเด็ก (ช่วงอายุ 0 ถึง 14) จะลดลงจาก 10 ล้านคน ในเหลือเพียง 1 ล้านคน สูงวัย (65+) เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน ไปเป็น 18 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ

หากประชากรลดลงมากขนาดนี้ คนในวัยทำงานลดลงมากขนาดนี้ ภาครัฐก็จะไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ

หมดยุคประชากรรุ่นเกิดล้าน

สอดคล้องกับบทความของศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล เผยแพร่ผ่านจดหมายข่าวประชากรและสังคม ปีที่ 43 ฉบับที่ 3 กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2566 ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า จากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ประเทศไทยมีจำนวนประชากร (คนที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน) สูงสุดปลายปี 2562 หรือต้นปี 2563 อยู่ที่ 66.5 ล้านคน

แต่หลังจากนั้นประชากรไทยก็ค่อย ๆ ลดลง โดยเริ่มสังเกตการลดลงของประชากรได้จากการที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปีหนึ่ง ๆ นั้นน้อยกว่าจำนวนคนที่ตายไปทั้งหมดในปีเดียวกัน และจากการติดตามตัวเลขในปี 2564 และ 2565 มีจำนวนคนตายมากกว่าคนเกิดทั้งสองปี

จำนวนการเกิด การตาย จากปีล่าสุด 2565 ย้อนหลังไปจนถึงปี 2527 ซึ่งเป็นปีที่อาจนับได้ว่าสิ้นสุดประชากรรุ่นเกิดล้าน (ช่วงปี 2506 – 2526) มีคนเกิดปีละมากกว่าล้านคน คนที่เกิดในช่วงนี้ เรียกว่า “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” ซึ่งปัจจุบันคนรุ่นนี้มีอายุ 40-60 ปีแล้ว หากดูสถิติในช่วงเวลา 39 ปี จาก พ.ศ. 2527 – 2565 การเกิดได้ลดลงจากประมาณ 9 แสนคน มาอยู่ที่ประมาณ 5 แสนคน (ลดลงราว 4 แสน) ส่วนการตายได้เพิ่มจากประมาณ 2 แสนคน มาอยู่ที่ประมาณ 5 แสนคน