“ไมโครซอฟท์” หนุนผู้หญิง ประกอบวิชาชีพใน “STEM”

การสร้างความเชื่อมั่นว่าคนไทยทุกคนจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี และทักษะที่เกี่ยวข้องนับเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ด้วยเหตุนี้เอง จึงร่วมมือกับภาครัฐ และภาคเอกชน ในการเริ่มต้นโครงการ และกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เพื่อเปิดตัวแคมเปญ #MakeWhatsNext ที่ถือเป็นโครงการระดับโลกของไมโครซอฟท์ ที่จะสนับสนุนเด็กผู้หญิงในการประกอบอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็มศึกษา (STEM)

“ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในอีก3 ปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ว่า 95%ของอาชีพในประเทศไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลง และอีก 65% ของอาชีพสำหรับคนรุ่นต่อไปจะไม่ใช่อาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบัน

“ดังนั้น ทักษะและการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดงานสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยหนึ่งในนั้นคือทักษะเชิงดิจิทัล เพราะมีความสำคัญ และเป็นทักษะที่จำเป็นต่อแรงงานในอนาคต และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ไมโครซอฟท์มีพันธกิจที่จะให้เยาวชนทุกคนได้รับโอกาสในการเข้าถึงทักษะ และความรู้ที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในโลกดิจิทัล”

ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันจำนวนผู้หญิงที่ศึกษาและประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มศึกษายังมีจำนวนไม่มากนัก ทั้งที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างมากในช่วงหลายสิบปีผ่านมา โดย สถาบันสถิติแห่งยูเนสโก (UNESCO”s Institutefor Statistics) ระบุว่ามีเพียง 23% ของจำนวนนักวิจัยทั้งหมดในเอเชียตะวันออก และเอเชีย-แปซิฟิกที่เป็นผู้หญิง และมีเพียง 35% ของนักเรียนผู้หญิงที่ศึกษาสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มศึกษา

ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนพลังของเด็กผู้หญิงในสาขาสะเต็มศึกษา สำหรับบุคคลทั่วไปใน 2 กิจกรรม และมีผู้เข้าร่วมทั้งหมดกว่า 104 คน โดยหนึ่งในนั้นคือกิจกรรม DigiGirlz 2018 ซึ่งเป็นการให้คำปรึกษานักเรียนผู้หญิงในระดับมัธยมต้น และมัธยมปลายเกี่ยวกับประโยชน์ของการเรียนด้านสะเต็มศึกษา และสนับสนุนให้เข้าร่วมเวิร์กช็อปภาคปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มศึกษาด้วย

“ธนวัฒน์” กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ความแตกต่างทางเพศมีต่อความสำเร็จด้านสะเต็มศึกษาจะลดลงในช่วงเวลาหลายปีผ่านมา แต่การเหมารวมที่ว่าผู้ชายเท่านั้นที่สามารถประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและวิศวกรรมก็ยังคงอยู่

“สำหรับเด็กนักเรียนแล้ว โอกาสในการเข้าถึงสะเต็มศึกษา และการศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารเท่านั้นยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กผู้หญิงที่มักจะรู้สึกกลัว หรือกับวิชาที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มศึกษาที่อาจรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ การชักจูงให้เด็กผู้หญิงหันมาให้ความสนใจสะเต็มศึกษามากขึ้นนั้นจะต้องใช้วิธีการที่ครอบคลุม หลอมรวมกันอย่างลงตัวและให้เขามองเห็นอนาคต”

“เครื่องมือที่ดีจะทำให้เด็ก ๆ เกิดความเข้าใจคือการสนับสนุนที่เหมาะสมการให้คำปรึกษาที่จุดประกายความสนใจ ความคิดสร้างสรรค์ ที่ผ่านมาเราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน สนับสนุนเด็กผู้หญิงเชื่อว่าพวกเขาทำได้ และมีกระบวนการทางความคิดที่นำไปสู่การเติบโต ทั้งยังลดช่องว่างระหว่างเพศได้สำเร็จ และยั่งยืน”

“ชนัญชิดา แขเพ็ญ” หนึ่งในนักเรียนผู้เข้าร่วม DigiGirlz บอกว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจโค้ดดิ้งมาก่อน แต่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเข้าร่วมงาน #MakeWhatsNext-DigiGirlz ทำให้กล้าที่จะเรียนรู้ ผิดก็ไม่เป็นไร แก้ไขได้

“ตอนแรกคิดว่ายาก แต่กิจกรรมวันนี้ทำให้การเขียนโค้ดเข้าใจง่าย ทำให้เปิดใจยอมรับการเขียนโค้ดมากขึ้น”

นับเป็นการสร้างแรงบันดาลในการเรียนด้านสะเต็มศึกษาให้กับเด็กผู้หญิง และขับเคลื่อนตลาดงานแรงงานสำหรับคนรุ่นใหม่อย่างเป็นรูปธรรม