“ม.หอการค้า” ชิงเค้กออนไลน์ เพิ่มหลักสูตรจับผู้เรียนวัยทำงาน

แฟ้มภาพ

ในห้วงที่การแข่งขันของมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงนักศึกษาใหม่ การปรับกลยุทธ์องค์กรด้วยการหันมาจับตลาด blue ocean จึงเป็นทางออกที่น่าสนใจที่จะช่วยเพิ่มฐานผู้เรียนได้ และหนึ่งทางเลือกที่มหาวิทยาลัยเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ คือการเรียนออนไลน์

การเรียนออนไลน์ไม่เพียงแต่เป็นการเรียนเพื่อเอา degree หรือปริญญาเท่านั้น แต่ได้ต่อยอดมายังการทำหลักสูตร non-degree ที่ใช้ระยะเวลาเรียนไม่นาน แต่ได้รับองค์ความรู้เฉพาะด้านอย่างเจาะลึก พร้อมทั้งได้ใบประกาศนียบัตรมาการันตีความรู้

นอกเหนือไปจากการเปิดหลักสูตรหาผู้เรียนเอง บางมหาวิทยาลัยได้ขยับไปสู่การจับมือเป็นพันธมิตรกับภาคเอกชนในการออกแบบหลักสูตรร่วมกัน เพื่อสร้างแพลตฟอร์มและพัฒนาคนในบริษัทนั้น ๆ ได้ตามความต้องการขององค์กร ซึ่งนี่เป็นเส้นทางที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

เปิดกว้างเลือกวิชาที่อยากเรียน

“รศ.ดร.เสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์” อธิการบดี ม.หอการค้าไทย เปิดเผยว่าในปีการศึกษา 2561 มหาวิทยาลัยจะเปิดการเรียนออนไลน์รูปแบบใหม่ซึ่งกำหนด degree ไว้ 2 รูปแบบ คือศิลปศาสตรบัณฑิตหรือวิทยาศาสตรบัณฑิต ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนวิชาเรียนได้ตามความต้องการ หลังจากสะสมได้ 4-5 วิชาจะได้ประกาศนียบัตร หากเรียนครบตามที่กำหนดก็ได้รับปริญญา โดยการเรียนรูปแบบนี้ไม่จำกัดระยะเวลาในการเรียน เหมือนเป็นการส่งเสริมให้คนไทยมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“ผู้เรียนจะอายุเท่าไรก็ได้ อาจเรียนระหว่างทำงานก็สามารถทำได้ ซึ่งวิชาหลักที่เรียนก็จะเป็นทิศทางที่แสดงให้เห็นว่าจะได้รับปริญญาด้านไหน โดยระบบการเรียนออนไลน์ของเรามีอยู่แล้ว และจะทยอยเติมเต็มบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (courseware) ให้ครบทุกวิชา”

“ส่วนตัวมองว่าคนสนใจมาเรียนออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ เพราะเขารู้ว่าโลกเปลี่ยนไปเยอะ ก็ต้องเร่งปรับปรุงหรือพัฒนาทักษะของตัวเอง ขณะเดียวกัน องค์กรที่เล็งเห็นว่าทักษะของพนักงานเริ่มตกยุคแล้ว และต้องการทักษะให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ก็อาจมาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาหลักสูตรได้”

โดยล่าสุด ม.หอการค้าไทย จัดทำหลักสูตร MBA online ร่วมกับเครือ รพ.พญาไท-เปาโล ในการสร้างหลักสูตร 4D อันครอบคลุมถึงด้าน Disruptive Business Trend, Design Thinking, Digital Transfor-mation และ Digital Business Canvas ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่าน hybrid learning platform นวัตกรรมการเรียนรู้ที่ผสมสานการเรียนรู้ในห้องเรียน กับ digital learning

อัปทักษะพนักงานทุกระดับ

“อัฐ ทองแตง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือ รพ.พญาไท-เปาโล ให้ข้อมูลว่าความร่วมมือกับ ม.หอการค้าไทย ครั้งนี้ เป็นการนำร่องของการจัดตั้ง Centerof Interactive Learning (CIL) ศูนย์รวมความรู้ที่บุคลากรในโรงพยาบาลสามารถมาถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ เป็นไปตามนโยบายของเครือที่ต้องการให้เกิดการต่อยอดความรู้ในมิติใหม่ ด้วยการเปิดโอกาสให้บุคลากรทุกคนและทุกระดับสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่กว้างไกล ทันสมัย และทันเหตุการณ์ เพื่อเกิดการเรียนรู้และลงมือทำ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

“จากเดิมเรามีการสอนและการอบรมเรื่องงานเป็นหลัก แต่เพราะอยากให้เกิดวิธีการต่อยอดความรู้ที่หลากหลาย และมีเวทีในการแบ่งปันความรู้ของกลุ่มพนักงานผ่าน จึงมีการทำ hybrid learning platform ที่จะเป็นเหมือนคลังความรู้ของโรงพยาบาล เก็บทั้งเรื่องนวัตกรรม และกลยุทธ์ต่าง ๆ

โดยบุคลากรของเรากว่า 5,000 คนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งเราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเรื่องการเรียนรู้ เพราะเชื่อว่าจะทำให้องค์กรเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมอย่างยั่งยืนในองค์กร”

ขยายเป้าหมายสู่ลูกค้าองค์กร

“ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล” ผู้อำนวยการหลักสูตร MBA online ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า การจัดหลักสูตรให้กับเครือ รพ.พญาไท-เปาโล เป็นแบบ non-degree การเรียนแบบนี้จะทำให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้สมัยใหม่ไปใช้กับองค์กรได้ทันที โดยเบื้องต้นจะจัดการสอนให้กับพนักงาน 200 คน หลังจากนั้นจะเพิ่มจำนวนผู้เรียนจนครอบคลุมบุคลากรทั้ง 5,000 กว่าคนของเครือ รพ.พญาไท-เปาโล ซึ่งระยะเวลาในการอบรมอยู่ที่รุ่นละ 2.5 เดือน

“นี่เป็นครั้งแรกของ ม.หอการค้าไทย กับการจัดทำหลักสูตรออนไลน์แบบ non-degree จากที่ผ่านมาเป็นหลักสูตร degree ซึ่ง MBA online ของเราเปิดมาแล้ว 8 ปี มีทั้งหมด 24 รุ่น บ่มเพาะบุคลากรกว่า 1,000 คน คนที่มาเรียนส่วนใหญ่เป็นแพทย์ที่จะขยับไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลในอนาคต นอกจากนี้ก็มีนักบิน แอร์โฮสเตส เป็นต้น”

“หลักสูตรออนไลน์ใช้เวลาเรียน 1.8 ปี ค่าเรียนตลอดหลักสูตรประมาณ 2.5 แสนบาท ทุก ๆ 3-4 เดือนเราจะรับ 1 รุ่น รุ่นละ 30-50 คน โดยนอกจากการเรียนแบบรายบุคคลที่เป็นผู้เรียนกลุ่มใหญ่แล้ว ยังมีผู้เรียนจากบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ อย่างธนาคารออมสินที่ให้ทุนพนักงานมาเรียนปีละเกือบ 100 คน และปีนี้มีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีก 60 ทุน ซึ่งเรามีแผนที่จะขยายจำนวนผู้เรียนกลุ่มลูกค้าองค์กร มีหลายบริษัทที่อยู่ระหว่างการพูดคุย อย่าง ปตท. และมิตรผล”

“ดร.ภูษิต” มองว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรออนไลน์แบบ degree ยังมีไม่มาก แต่ถ้าเป็นแบบ non-degree เริ่มเยอะขึ้น และท้ายที่สุดหลักสูตรออนไลน์แบบ non-degreeจะชนะ degree แน่นอน เพราะเทรนด์การหาความรู้ในอนาคตจะเน้นการเรียนเร็ว สามารถนำไปใช้งานได้เร็ว และได้ผลจริง