การศึกษาแบบมีส่วนร่วม กุญแจสำคัญเปลี่ยนประเทศ

เพราะมีความเชื่อว่าระบบการศึกษาที่ดีต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม จึงเกิดการรวมตัวกันขององค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และกลุ่มเด็กและเยาวชน ภายใต้ชื่อภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership-TEP) ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ TEP จัดการประชุมภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership Forum 2018) เพื่อระดมสมอง และค้นหาแนวทางที่จะนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาไทย

ภายในงานมี “อานันท์ ปันยารชุน” ประธานเครือข่าย TEP กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ถึงเวลาเปลี่ยนการศึกษาไทย” โดยเขามองว่าโรงเรียนรัฐของไทยนั้นมีการเปลี่ยนผู้บริหารทุก 2 ปี ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาการศึกษาซึ่งจากบทเรียนในหลายประเทศสะท้อนให้เห็นว่า การสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ได้สำเร็จได้ด้วยระยะเวลาอันสั้น แต่ต้องมีความต่อเนื่อง และต้องอาศัยทุกภาคส่วนของประเทศร่วมกันคิด และให้ความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษา

“ไม่มีใครเป็นเจ้าของการศึกษา รัฐไม่มีหน้าที่ควบคุม หรือสั่งการ แต่มีหน้าที่สนับสนุน เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน พ่อแม่มีบทบาทสำคัญที่ต้องเอาใจใส่การศึกษาของลูก ขณะที่ภาคสังคม ชุมชน และเอกชนก็เข้ามาร่วมได้ ดังนั้น ถ้าจะพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือปฏิรูปการศึกษา คนไทยต้องปรับแนวคิดใหม่ โดยต้องรู้บทบาทหน้าที่ตนเอง หากไม่ปรับเปลี่ยนแนวคิดแล้ว ต่อให้มีแผนงาน หรือมีพิมพ์เขียวที่ดีอย่างไรก็ไปไม่รอด”

“ในส่วนบทบาทของผู้เรียนคือต้องกระตือรือร้นในการเรียนรู้ และค้นหาตนเอง ทางด้านพ่อแม่ต้องสร้างโอกาส และสนับสนุนการเรียนรู้ตามศักยภาพของลูก สำหรับโรงเรียนต้องเป็นที่สร้างแรงบันดาลใจ และฝึกประสบการณ์ให้เด็ก ขณะที่ครูต้องเป็นผู้ค้นหา และส่งเสริมศักยภาพเด็ก และภาครัฐต้องอำนวยความสะดวก สนับสนุน พร้อมเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วมและรับผิดชอบ รวมถึงชุมชน/สังคมควรสร้างพื้นที่สำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีความปลอดภัย”

“อานันท์” กล่าวอีกว่า ขณะนี้โลกเข้าสู่ศตวรรษใหม่ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงแบบไร้พรมแดน ซึ่งส่งผลต่อระบบการศึกษาที่จะต้องเสริมสร้างนวัตกรรมการสอน และการเรียนรู้บนแพลตฟอร์มใหม่ให้กับเด็ก ดังนั้น การเตรียมคนสำหรับโลกยุคใหม่ต้องร่วมกันออกแบบ และสร้างเป้าหมายร่วมกัน โดยเด็กจะต้องมี 6 คุณลักษณะสำคัญ ได้แก่ คุณธรรมจริยธรรม, รู้จักตนเอง, เป็นเจ้าของการเรียนรู้, ทำงานเป็นทีม, พลเมืองมีส่วนร่วม และเก่งทันเทคโนโลยี

พร้อมกันนี้ ต้องพัฒนาเด็กให้มีศักยภาพพร้อมเผชิญกับโลกที่ท้าทายและเปลี่ยนแปลง ด้วยการ 1.ให้เด็กรู้จักตนเอง ฝึกเข้ากับสังคม และพัฒนาตนเองต่อเนื่อง 2.ให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้ใหม่ ๆ และเผชิญโลกตามความจริง 3.ฝึกให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ ได้คิดและทำให้เป็น และฝึกให้มีพฤติกรรมที่เหมาะกับโลกยุคใหม่ เช่น การจัดการตนเอง หรือการทำงานร่วมกับผู้อื่น และ 4.ฝึกทักษะและกระตุ้นให้เด็กสงสัย ตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบอย่างเป็นระบบด้วยตัวเอง

“ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และเครือข่ายภาคีเพื่อการศึกษาไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ TEP ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของคนไทย1,142 คน ใน 15 จังหวัด ในประเด็นที่ว่า อีก 10 ปีข้างหน้าต้องการเห็นเด็กไทยมีคุณลักษณะใด

ผลการสำรวจพบว่า เก่งทันเทคโนโลยี 91% มีความสามารถในการเรียนรู้ 87% รู้จักตนเอง 86% สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี 86% เป็นพลเมืองที่ดี ร่วมสร้างสรรค์สังคม 84% และยึดมั่นในความถูกต้อง 82%

อย่างไรก็ตาม TEP ได้ระดมสมองเพื่อร่วมกันนำเสนอแนวคิดที่จะนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาไทย 7 ด้าน ได้แก่ เด็กปฐมวัย, นักเรียน, ครู, โรงเรียน, พ่อแม่, พื้นที่ และพื้นที่นวัตกรรม โดยที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้

1.สนับสนุนให้พ่อแม่เข้าใจบทบาท และวิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก เพราะพ่อแม่มีบทบาทในการยกระดับการเรียนรู้ของเด็กมากถึง 40% จึงเสนอว่าควรจะมีโรงเรียนสำหรับสอนพ่อแม่ให้รู้จักวิธีการเลี้ยงลูก การพัฒนาที่เหมาะสมตามศักยภาพ โดยมีการจัดทำหลักสูตรทั้งแบบปกติ และหลักสูตรออนไลน์ รวมถึงสนับสนุนการสร้างเครือข่ายพ่อแม่

2.ช่วยให้เด็กค้นพบตนเอง ขยายผลการทำกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กรู้จัก และค้นพบความถนัดตนเอง และใช้เทคโนโลยีช่วยเด็กค้นพบตนเอง พร้อมสร้างเครือข่ายครูแนะแนว

3.พัฒนาภาวะผู้นำของผู้อำนวยการ/ครูใหญ่ โดยร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาหลักสูตร และใช้ระบบ HR สมัยใหม่มาช่วย

4.ยกระดับการผลิตครู เน้นการร่วมมือภาคีเครือข่าย และใช้ระบบ HR สมัยใหม่มาสนับสนุนการพัฒนาครู นอกจากนี้ จะต้องร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ปรับมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษาด้านครุศาสตร์ให้เน้นวิชาชีพ และร่วมกับคุรุสภาปรับมาตรฐานวิชาชีพให้อิงสมรรถนะ

5.สร้างพลังขับเคลื่อนในพื้นที่ โดยหา prime mover ขับเคลื่อน และช่วยสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ รวมทั้งถอดบทเรียนจังหวัดที่เข้มแข็งขยายผลไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ซึ่งจังหวัดที่ประสบความสำเร็จเกิดจากผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้าใจและให้ความสำคัญ

6.ยกระดับการทำงานของโรงเรียน และเครือข่ายโรงเรียน ผ่านการขยายโรงเรียนนวัตกรรมที่เป็นโรงเรียนรูปแบบใหม่ เป็นฐานแห่งการเรียนรู้ให้กลายเป็นกระแสหลักในพื้นที่ โน้มน้าวรัฐให้อิสระการบริหารจัดการโรงเรียนมากขึ้น และ 7.ปรับระบบและการบริหารในเขตพื้นที่ สนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งสภาการศึกษากำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งในพื้นที่นำร่อง

“ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทาย TEP และภาคีเครือข่าย ซึ่งก้าวต่อไปเราจะเดินหน้าทำงาน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนกิจกรรม ด้วยการสร้างความร่วมมือกับองค์กรสมาชิก อาสาสมัคร และระดมทรัพยากรจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นทุนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ตลอดจนขยายผลความคิดไปสู่สังคม เช่น จัดเวที TEP Talk ในพื้นที่ต่าง ๆ หรือผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ และทำหน้าที่เสนอแนวทางนโยบายแก่สังคมโดยหวังว่าข้อเสนอเหล่านี้จะเป็นแนวทางที่รัฐบาลชุดต่อไปจะนำไปดำเนินการด้วย”