PIM เปิดศูนย์หุ่นยนต์ฯ ปูพรมสร้างแรงงานรับ New S-curve

ปีที่ผ่านมา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) เปิดสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อรองรับตลาดแรงงาน ซึ่งต้องการบุคลากรที่มีความรู้ และทักษะด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อันเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (new S-curve) ของประเทศไทย

สำหรับปีนี้พีไอเอ็มอัพเกรดการเรียนการสอนไปอีกขั้นกับการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (iCRAS : Innovation Center for Robotics and Automation Systems) บนพื้นที่ 495 ตารางเมตร ใช้งบฯลงทุนกว่า 50 ล้านบาท โดยตั้งเป้าให้เป็นพื้นที่สำหรับการสอนที่เน้นเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมกับโรโบติกส์และดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อสร้างผู้ที่มีความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์ในการผลิตฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ รวมถึงสามารถควบคุมระบบอัตโนมัติ ตลอดจนออกแบบและวิเคราะห์ระบบการผลิตและเครื่องมือช่วยในการผลิต และชิ้นส่วนเครื่องจักรกล

“ดร.พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม ให้ข้อมูลถึงหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติว่า นักศึกษาจะได้เรียนวิชาเฉพาะทางอย่างการออกแบบ robot gripper ที่จะพัฒนาทักษะในการผลิตชิ้นงานที่เอื้อต่ออุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีวิชาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในการผลิต และวิชาการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับวิศวกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเรียนรู้เกี่ยวกับ IOT และการเชื่อมต่อระบบ cloud

“เราจัดการเรียนการสอนภาคทฤษฎีควบคู่กับการฝึกปฏิบัติงานจริง เพื่อสร้างบัณฑิตที่พร้อมทำงาน และสามารถปฏิบัติงานจริงได้ทันทีหลังจบการศึกษา โดยนักศึกษามีโอกาสผ่านการฝึกงานในองค์กรชั้นนำระดับโลกที่เป็นพันธมิตรกับพีไอเอ็ม รวมระยะเวลากว่า 18 เดือน คิดเป็น 40% ของการเรียน ซึ่งจะได้เรียนรู้ระบบการทำงานจริงในกลุ่มงานต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์,

อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร”

ในส่วนของศูนย์ iCRAS ที่จัดตั้งขึ้น มีห้องปฏิบัติการ 5 ห้อง แบ่งเป็น 1.ห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robotics Laboratory) สำหรับการเรียนรู้ ทดลอง และทดสอบการทำงานระบบหุ่นยนต์ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมยุคใหม่ ประกอบด้วย แขนกลอุตสาหกรรมขนาดต่าง ๆ ตลอดจนแขนหุ่นยนต์ชนิดใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ (cobot) และมือจับ (gripper) สำหรับการทำงานหลายรูปแบบ จากบริษัทหุ่นยนต์ชั้นนำของโลก

2.ห้องปฏิบัติการระบบอัตโนมัติ (Automation Systems Laboratory) ประกอบด้วย ชุดจำลองการทำงานของแขนกลอุตสาหกรรม, เซ็นเซอร์ตรวจจับวัตถุรูปแบบต่าง ๆ และระบบสายพานลำเลียงระบบ เพื่อสร้างความเข้าใจการผลิตโดยใช้ระบบอัตโนมัติทั้งระบบ

3.ห้องปฏิบัติการระบบไซเบอร์ฟิสิกส์ (Cyber Physical Systems Laboratory) เป็นห้องปฏิบัติการสำหรับการเรียนรู้ระบบไซเบอร์ฟิสิกส์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยผสานความสามารถของเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับเทคโนโลยีด้านการผลิต เพื่อสร้างโรงงานอัจฉริยะและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเวลาและต้นทุนการผลิต

4.ห้องปฏิบัติการเครื่องสร้างต้นแบบและซีเอ็นซี (Rapid Prototyping and CNC Laboratory) ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการออกแบบงานอุตสาหกรรม ประกอบด้วย เครื่องแกะสลักด้วยคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ (CNC) เครื่องตัดชิ้นส่วนด้วยเลเซอร์ และเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีประสิทธิภาพสูง

5.พื้นที่สร้างสรรค์งานนวัตกรรม (Co-Creation Space) เป็นพื้นที่สำหรับรองรับไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ตอัพ ซึ่งมีอุปกรณ์และเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนางานนวัตกรรมอย่างครบครัน ภายใต้บรรยากาศในการทำงานที่เอื้อต่อการผลักดันความคิดริเริ่มใหม่ ๆ

“นี่เป็นเฟสแรกของการจัดตั้งศูนย์ iCRAS ซึ่งเน้นหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยพีไอเอ็มกำลังจะก่อสร้างอาคารใหม่ปลายปีนี้ มีประมาณ 20 ชั้น หรือพื้นที่ใช้สอยกว่า 40,000 ตารางเมตร ตั้งเป้าให้เป็นศูนย์ปฏิบัติการแห่งใหม่ของ PIM นอกจากจะมีส่วนของออฟฟิศ และห้องเรียนแล้ว ยังมีศูนย์สตาร์ตอัพ และศูนย์ iCRAS ที่มีพื้นที่ใช้งานที่ใหญ่ขึ้น เพราะเราจะนำหุ่นยนต์บริการที่ใช้ในบ้าน และสำนักงานเข้ามาเพิ่มเติม โดยอาคารแห่งใหม่จะแล้วเสร็จในอีก 3 ปีข้างหน้า”

“สำหรับตอนนี้เมื่อมีห้องแล็บเปิดอย่างเต็มตัวแล้ว เราจะมีความพร้อมมากขึ้นในการเรียนการสอนนักศึกษา ดังนั้นจึงมีแผนจะขยายจำนวนรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปีถัดไป หรือเพิ่มเป็นรุ่นละ 100 คน จากปกติที่รับนักศึกษาใหม่อยู่ที่รุ่นละ 50 คน โดยเราได้เตรียมสถานที่ฝึกงานให้กับพวกเขาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในไทยหรือต่างประเทศ”

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ พีไอเอ็มได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการศึกษากับเทศบาลเมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น, Siasun Automation (Singapore) Pte.Ltd. บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ชั้นนำระดับโลก และ Yaskawa Electric (Thailand) Co.,Ltd. ผู้นำด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และสนับสนุนด้านวิชาการ รวมถึงเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานให้นักศึกษา นอกจากนั้น พีไอเอ็มยังมีแผนขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศจีน และยุโรป

“ประเทศญี่ปุ่นต้องการรับเด็กของเราไปฝึกงานเยอะมาก เพราะเขาก็ขาดแคลนคนที่มีทักษะด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ซึ่งไม่เพียงแต่การฝึกงานอย่างเดียว แต่เขาต้องการแรงงานไทยไปทำงานที่ญี่ปุ่นเลย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำคัญของนักศึกษาพีไอเอ็มที่จบไปแล้วสามารถทำงานได้ทั้งในไทย และก้าวออกไปเติบโตในตลาดแรงงานต่างประเทศได้อีกด้วย”