มทร.รัตนโกสินทร์เปิด RICE ปั้นเชฟดีกรีมิชลินป้อนตลาดโลก

“เชฟ” เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเมื่อตอนนี้มีโทรทัศน์หลายช่องจัดรายการประกวดหาสุดยอดเชฟ ก็ยิ่งตอกย้ำความร้อนแรงหรือเทรนด์ของอาชีพเชฟยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของเชฟไม่ใช่การเป็นพ่อครัวหรือแม่ครัวเท่านั้น นอกจากความรู้ที่แน่นปึ้กด้านการทำอาหาร คนที่เป็นเชฟจะต้องรู้ถึงการบริหารด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนวัตถุดิบ การจัดการร้าน การดูแลพนักงาน และอื่น ๆ

เหล่านี้เป็นประเด็นที่ วิทยาลัยผู้ประกอบการสร้างสรรค์นานาชาติรัตนโกสินทร์ (Rattanakosin International College of Creative Entrepreneurship-RICE) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จึงเปิดหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมผู้ประกอบการธุรกิจการประกอบอาหาร (หลักสูตรนานาชาติ) ในปีการศึกษา 2561

“ดร.ณัฐพงศ์ โชติกเสถียร” ผู้อำนวยการวิทยาลัยผู้ประกอบการสร้างสรรค์นานาชาติรัตนโกสินทร์ มทร.รัตนโกสินทร์ ให้ข้อมูลว่า หลักสูตรนี้ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันการครัวดิซิพ เอสโคฟิเอร์ (Institut Culinaire Disciples Escoffier-ICDE) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมเชฟมืออาชีพดิซิพ เอสโคฟิเอร์ (Disciples Escoffier) เครือข่ายพ่อครัวมืออาชีพให้แก่ประมุขแห่งรัฐ รวมถึงร่วมมือกับยูโรเปี้ยน คอมมิวนิเคชั่น สกูล (European Communication School-ECS) โรงเรียนด้านธุรกิจการสื่อสารดิจิทัลชั้นนำของประเทศฝรั่งเศส

โดยเป็นหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี แบ่งเป็นศึกษาในประเทศไทย 3 ปี และศึกษาพร้อมกับการฝึกปฏิบัติงานที่ประเทศฝรั่งเศส 1 ปี เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้รับปริญญา 2 ใบ และประกาศนียบัตร 2 ใบประกอบด้วย ปริญญาตรีด้านศิลปะและเทคโนโลยีการประกอบอาหารจาก มทร.รัตนโกสินทร์ และปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจจาก ECS

นอกจากนี้ ยังได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพด้านอาหารฝรั่งเศส (Certificat de Fin de Formation en Cuisine Francaise Niveau V) ซึ่งรับรองโดยรัฐบาลฝรั่งเศส และประกาศนียบัตร Disciples Escoffier Grande Diploma จากสมาคม Disciples Escoffier ทำให้บัณฑิตมีเครือข่ายวิชาชีพทันทีที่จบการศึกษา และสามารถทำงานเป็นเชฟได้ทั่วยุโรป

“ดร.ณัฐพงศ์” บอกว่า การทำหลักสูตร 2 ปริญญาในครั้งนี้มาจากการเล็งเห็นว่าการประกอบการอาหารเป็นอาชีพที่ต้องมีองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทั้งอาหารและคน หากเน้นเฉพาะความรู้การประกอบอาหาร ก็อาจมีปัญหาเมื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบริหาร เพราะไม่มีความรู้ด้านการจัดการที่มากพอ

ขณะเดียวกัน ยังมองไปถึงนักศึกษาบางส่วนที่เรียนจบไปแล้วอาจไม่อยากประกอบอาชีพเชฟ เพราะเป็นอาชีพที่ต้องทำงานหนัก ดังนั้น ก็จะมีทางเลือกให้เขาก้าวไปสู่อาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง อย่างเป็นฝ่ายจัดเลี้ยง หรือผู้นำเข้าอาหารจากต่างประเทศ เป็นต้น

“เราตั้งเป้ารับนักศึกษาประมาณ 25 คน ทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งการมีนักศึกษาต่างชาติจะทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ และความรู้จากวิธีการประกอบอาหารที่ไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งความต่างจะเป็นตัวผลักและเปิดกว้างโลกของการประกอบอาหารมากขึ้น”

“ในส่วนของเชฟต่างประเทศที่เป็นครูสอนจะมาจากหลายแห่ง และควบคุมการสอนของเราให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรเดียวของไทยที่ได้เรียนตามมาตรฐานสากล และเป็นการเรียนแบบตัวต่อตัว ต่างจากที่อื่นซึ่งเรียนแบบกลุ่มหรือเป็นคู่ ทำให้นักศึกษาอาจไม่ได้สัมผัสกับการทำอาหารอย่างเต็มที่”

“อีกหนึ่งจุดแข็ง คือ ผู้เรียนของเราสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้จริง และสามารถสร้างธุรกิจได้จริง โดยเรามองว่าโลกธุรกิจเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่ได้สอนคนป้อนโรงแรม แต่เราสอนคนให้เขาสร้างธุรกิจของตัวเองได้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งอาชีพเชฟถือเป็นทักษะขาดแคลนของเกือบทุกประเทศเช่นกัน”

“ดร.ณัฐพงศ์” กล่าวอีกว่า หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรแรกของ RICE ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เพื่อรับกับวิสัยทัศน์ของ มทร.รัตนโกสินทร์ที่ต้องการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งสังคม ผู้ประกอบการ มุ่งพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งในวงวิชาชีพและวิชาการ โดยแนวคิด RICE คือเปลี่ยนความชอบให้เป็นอาชีพ เพราะเชื่อมั่นว่าการทำความชอบของนักศึกษากลายเป็นอาชีพจะก่อให้เกิดผลที่ดีกับตัวเขาเอง อีกทั้งเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

“เรามองว่าประเทศไทยจะขับเคลื่อนได้ต้องสร้างผู้ประกอบการที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เราจึงหลีกเลี่ยงการสอนแบบทั่วไป แต่เจาะลึกว่าอะไรที่เป็นศักยภาพหลักของประเทศ ก็พบว่าอาหารเป็นจุดเด่นของไทยอยู่แล้ว และเชื่อมโยงกับอุตสาหรรมบริการได้ ซึ่งเชฟเป็นหนึ่งอาชีพที่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรี เราเลยเริ่มต้น RICE ด้วยหลักสูตรนี้”

แนวทางการสร้างหลักสูตรของ RICE จะมองถึง 4 ด้านหลัก คือ ผสมผสานการเรียนการสอนและทักษะปฏิบัติจากสถาบันการศึกษาและสมาคมวิชาชีพระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชานั้น ๆ, วิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่เกี่ยวข้องกับสาขา, ปริญญาธุรกิจจากสถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศ และการฝึกปฏิบัติงานกับองค์กรวิชาชีพชั้นนำ

“ตอนนี้กำลังคุยกับพาร์ตเนอร์ด้านแฟชั่นดีไซน์ และธุรกิจความงาม กับสถาบันการศึกษาชั้นนำในทวีปยุโรป คือ ESC และ Paris School of Luxury ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจหรูหราในเครือเดียวกับ ESC โดยหลักสูตรใหม่ของเราจะมุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นสำคัญ”

เพราะ มทร.รัตนโกสินทร์ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการเป็นสถาบันการศึกษาที่รับผิดชอบด้านการผลักดันและพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อสร้างประเทศไทยสู่ยุค 4.0 โดยการเกิดขึ้นของ RICE ถือว่าเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ อีกทั้งยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ต้องการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งสังคมผู้ประกอบการอีกด้วย