วิทยาลัยดุสิตธานี ปั้น น.ศ.ไทย-อาเซียนรับท่องเที่ยว

ผลจากการเติบโตด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยจะต้องไม่หยุดนิ่งต่อการพัฒนามาตรฐานต่าง ๆ ให้สูงขึ้น เพื่อรองรับภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

วิทยาลัยดุสิตธานี สถาบันผลิตบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรง ซึ่งมีหลายหลักสูตรรองรับอุตสาหกรรมที่เติบโต จึงมีการเปิดหลักสูตร “นวัตกรรมการบริการในธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรม” ปี 2560 เพื่อมุ่งสร้างบุคลากรในอาชีพบริการท่องเที่ยว และการโรงแรมให้มีนวัตกรรมตอบโจทย์ในทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

“อาจารย์สมภพ ชาตวนิช” หัวหน้าหลักสูตรนวัตกรรมการบริการในธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรม วิทยาลัยดุสิตธานี กล่าวว่า จากสถานการณ์ธุรกิจการท่องเที่ยว-การโรงแรมทั่วโลกในปัจจุบัน มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองตอบไลฟ์สไตล์นักท่องเที่ยว ที่มีสัดส่วนประชากรวัยเกษียณเพิ่มสูงขึ้น ได้สร้างความท้าทายแก่สถานศึกษาในการผลิตบุคลากรให้พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง

“ที่ผ่านมาวิทยาลัยดุสิตธานี มีการพัฒนาหลักสูตรครอบคลุมธุรกิจบริการในด้านดังกล่าว เพื่อเสริมทักษะความเชี่ยวชาญแก่บุคลากรโรงแรม-ท่องเที่ยว จำนวนทั้งสิ้น 6 หลักสูตร ประกอบด้วย 4 หลักสูตรภาษาไทยด้านบริหารธุรกิจบัณฑิต คือ สาขาการจัดการครัว และศิลปะการประกอบอาหาร, สาขาการจัดการโรงแรมและรีสอร์ต, สาขาการจัดการท่องเที่ยว และสาขาการจัดการนิทรรศการและการประชุม”

“และ 2 หลักสูตรนานาชาติด้านบริหารธุรกิจ ซึ่งได้ร่วมมือกับสถานศึกษาด้านการโรงแรม และภัตตาคารชั้นนำระดับโลกในสาขาการจัดการโรงแรมและรีสอร์ต ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากโรงเรียนการโรงแรมโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสาขาวิชาศิลปะการประกอบอาหาร และการจัดการภัตตาคาร โดยการรับรองจากสถาบันเลอ กอร์ดอง เบลอ ประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ ทางวิทยาลัยยังผนึกเครือข่ายโรงแรมระดับ 5 ดาวทั่วโลก เพื่อเติมเต็มศักยภาพในการทำงานจริงของนักศึกษาด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว”

“ที่ผ่านมาการเรียนด้านธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรม จะเน้นหนักเชิงทฤษฎี ขณะที่งานด้านธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมในโลกยุคใหม่ ต้องบูรณาการองค์ความรู้ในหลายสาขาร่วมกับความครีเอทีฟ สู่การต่อยอดเป็นผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ หรือการพัฒนานวัตกรรมบริการ เพื่อสร้างจุดขายใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค Gen Z

เราจึงพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรีการจัดการบัณฑิต สาขานวัตกรรมการบริการในธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรม (กจ.บ.) โดยจะเปิดรับภาคการศึกษาใหม่ปี 2560 โดยมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนรูปแบบการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work-integrated Learning-WiL) ที่ผสมผสานความรู้เชิงวิชาการ (Academic) และวิชาชีพ (Professional) เข้าด้วยกัน”

โดยผู้เรียนจะมีความรู้ ความสามารถหลากหลาย สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ จนเกิดการพัฒนานวัตกรรมบริการ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 4.0 ทั้งนี้ วิทยาลัยคาดว่าหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากนักศึกษาทั้งในประเทศไทย จีน และกลุ่มประเทศอาเซียนจำนวนมาก เพราะปัจจุบันมีนักศึกษาไทย 150,000 คน ขณะที่นักศึกษาจีน และกลุ่มประเทศอาเซียนมีมากกว่า 20,000 คน

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยล่าสุดปี 2559 สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจไทยเป็นสัดส่วนถึง 17% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ คิดเป็นมูลค่า 2.51 ล้านล้านบาท เติบโตกว่าปีที่ผ่านมา 11% (ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)อันส่งผลให้ประเทศไทยติดอันดับท็อปเทนของประเทศที่มีการเติบโตเร็วด้านการท่องเที่ยว (ที่มา : สภาการเดินทางและท่องเที่ยวโลก) ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโลกในยุค 4.0 เติบโตกว่า 20.6% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงเทรนด์ท่องเที่ยวโลกใน 3 ปัจจัยหลัก คือ ความก้าวล้ำของระบบดิจิทัล ที่เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งข้อมูลการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว, พฤติกรรมการท่องเที่ยวแบบอิสระ (Free Independent Traveler) ที่ปัจจุบันมีการเติบโตกว่า 60% และการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุ ที่มีสัดส่วนมากถึง 20% ของประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการซื้อสูง อย่างประเทศสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

“อาจารย์สมภพ” กล่าวต่อว่า ในปีการศึกษาที่ 4 ภาคการศึกษาที่ 2 ผู้เรียนยังสามารถเลือกเข้าปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการชั้นนำในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งในเครือดุสิตธานี โรงแรมชั้นนำ บริษัททัวร์ ธุรกิจการบิน และธุรกิจไมซ์ (MICE) ผ่านรายวิชาสหกิจศึกษา (Cooperative Education) เป็นเวลา 4 เดือน

“โดยจะต้องปฏิบัติงานเสมือนเป็นพนักงานจริงของสถานประกอบการ ซึ่งมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ และหลังจากนั้น ผู้เรียนจะต้องนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์นักท่องเที่ยวยุคใหม่ เช่น สมาร์ทโฮเต็ล, สมาร์ททัวริซึ่ม และอื่น ๆ”

การเรียนในหลักสูตรตลอด 4 ปีการศึกษา นอกจากจะเป็นการเติมเต็มศักยภาพผู้เรียนให้มีความรู้รอบในทุกมิติวิชาการ, นวัตกรรมบริการ และความคิดสร้างสรรค์ ยังถือเป็นการผลิตคนทำงานให้พร้อมก้าวสู่โลกการทำงานจริง โดยไม่ต้องเรียนรู้งานเพิ่ม ซึ่งจะเป็นผลดี ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการแรงงานพร้อมทำงาน กลุ่มผู้เรียนที่ต้องการสร้างธุรกิจของตนเอง และผู้บริโภคที่จะได้พบกับผู้ให้บริการที่มีคุณภาพจนเกิดผลดีแก่ทุกฝ่ายในที่สุด