กสศ.แก้เหลื่อมล้ำการศึกษา ดัน “ISEE” ป้อนเด็กคืนสู่โรงเรียน

การพัฒนาการศึกษาเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการผลักดันประเทศ ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันหาทางออกโดยการพูดคุย ถกเถียงถึงปัญหา และหาแนวทางการแก้ไขอย่างเหมาะสม พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อมุ่งยกระดับชีวิตกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เสริมสร้างสิ่งขาด เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา

เช่นเดียวกับการที่ “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)” ได้จัดงานการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานตามมาตรา 23 แห่ง

พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อต่อยอดขยายผลข้อเสนอแนวทางใหม่ ๆ จากทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งระบบ รวมถึงนำทุกประเด็นและความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร กสศ. เพื่ออกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ ระเบียบต่าง ๆ ต่อไป อีกทั้งยังได้ร่วมกับภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ร่วมมือกันขับเคลื่อนสร้างระบบการคัดกรองกลุ่มเยาวชนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา

“ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า นโยบายที่เป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ เพื่อเป็นกรอบในการพิจารณาการคัดกรองนักเรียนยากจนทั่วทั้งประเทศ จะใช้เกณฑ์การคัดกรองปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สนับสนุนระบบการศึกษา โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำตามบริบทพื้นที่ตนเอง

เช่นเดียวกับการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 จนเกิดเป็นความร่วมมือจากเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาชนอย่างเข้มแข็ง นำมาจัดตั้งสู่กองทุน 10 บาท เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดความเท่าเทียม จากเงินของคนเชียงใหม่เอง

“กองทุน 10 บาท ได้กระตุ้นและให้โอกาสในการช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยการดำเนินงานในปีแรกได้รับการสนับสนุนจากคนเชียงใหม่ที่บริจาคคนละ 10 บาท ซึ่งในระยะเวลา 1 เดือน ระดมทุนได้จำนวน 2.7 ล้านบาท”

ด้าน “ไพรัช ใหม่ชมภู” รองนายกองค์การบริหารส่วนกลางจังหวัดเชียงใหม่ และเลขานุการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวเสริมว่า จากการสำรวจข้อมูลพบว่ากลุ่มเด็กยากจนในเชียงใหม่มีอยู่ราว 62,622 คน หนึ่งในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กยากจนพิเศษ 26,098 คน และผู้ปกครองมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 1,281 บาทต่อคน หรือเฉลี่ยเพียงวันละ 42.7 บาท นักเรียนเหล่านี้ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา

โดยกองทุน 10 บาทที่ได้รับการบริจาคจากชาวเชียงใหม่ สามารถขยายผลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสจำนวน 230 คน แบ่งเป็นการสนับสนุนทุนการศึกษาสายอาชีพ ทุนการศึกษาสายสามัญ ทุนสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาที่ประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ระหว่างเรียน ซึ่งการสนับสนุนมีตั้งแต่ระดับ 5,000-30,000 บาท

“การช่วยเหลือสนับสนุนเด็กและเยาวชน เราไม่ได้พิจารณาจากผลการเรียนเป็นหลัก แต่เน้นเรื่องพฤติกรรม ความอดทน รับผิดชอบ การมีความใฝ่ฝัน และมีแรงบันดาลใจไม่ย่อท้อ โดยมีกระบวนการกลั่นกรอง คัดเลือกที่รอบคอบ มีการลงพื้นที่จริงเพื่อตรวจสอบ”

การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ยังได้มีการนำเสนอกรณีศึกษา “ระบบติดตาม สนับสนุนช่วยเหลือเด็กนักเรียนด้อยโอกาส” ของ “โรงเรียนวัดห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่” ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่มีจำนวนนักเรียนฐานะยากจนเฉลี่ย 60-70%

โดยใช้ “ระบบการเยี่ยมบ้าน” ควบคู่การใช้แอปพลิเคชั่น “ระบบคัดกรองปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน” ภายใต้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (ISEE) ซึ่งช่วยให้ครูเข้าใจศิษย์และนำไปสู่การติดตามช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาส และมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา ด้วยการค้นหาความถนัดสู่การพัฒนาทักษะอาชีพ ดึงกลุ่มเสี่ยงกลับสู่สถานศึกษา


“โอภาส อินต๊ะแสน” ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดห้วยแก้ว กล่าวว่า คณะครูในโรงเรียนจะลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ครอบคลุม 3 ตำบล 13 หมู่บ้าน เพื่อร่วมพูดคุยกับครอบครัว สอบถามถึงปัญหาและหาแนวทางแก้ไขให้กับนักเรียนในความรับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะครูประจำชั้นเท่านั้น แต่ครูทุกคนในโรงเรียนต้องไปเยี่ยมบ้านนักเรียน

อย่างกรณี “น้องสดใส” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการช่วยเหลือจากการไปเยี่ยมบ้าน ซึ่งโรงเรียนได้รู้ถึงปัญหาของครอบครัวที่มีความยากจน และมีความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา เนื่องจากสภาพแวดล้อมมีผลกระทบต่อความสนใจในด้านการศึกษาของเด็ก

“เมื่อข้อมูลถูกส่งต่อไปยังแอปพลิเคชั่น ทำให้ครูสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเด็กนักเรียนทุกคน นำไปสู่การฝึกทักษะอาชีพที่ได้รับการสนับสนุนจากกิจกรรมของ อบต. และวิทยาลัยสารพัดช่างที่เข้ามาให้ความรู้แก่ชุมชน จนเกิดการจัดตั้ง HK.THE BARBER SHOP ภายในโรงเรียน”

“ระบบคัดกรองปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนช่วยตอบสนองต่อการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกต่อการเข้าถึงข้อมูล ทั้งยังช่วยครูแบ่งเบาภาระในการเก็บข้อมูลอย่างมีระบบระเบียบ ส่งผลดีต่อโรงเรียนในด้านการขยายโอกาสงาน เข้าถึงกลุ่มทุน หรือโครงการต่าง ๆ”

ขณะเดียวกัน “พิมพ์รดา ส่งชื่น”ครูโรงเรียนวัดห้วยแก้ว ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ระบบคัดกรองปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนทำให้ทราบว่า นักเรียนกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้อาศัยอยู่กับผู้ปกครอง และมาจากครอบครัวหย่าร้าง อีกทั้งสภาพการเป็นอยู่ของเด็กในชุมชนจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ดอยและภูเขายากแก่การเดินทาง

“สภาพความเป็นอยู่ครอบครัวของกลุ่มเด็กค่อนข้างยากจน ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตที่ต่างไป เด็กต้องใช้แรงงานเพื่อรับจ้างหาเงิน ทำให้กระทบต่อการศึกษา หลังการลงพื้นที่จริงทำให้คณะครูเข้าใจ เข้าถึงปัญญาและพบช่องทาง หาแนวทางที่ช่วยส่งเสริมในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากการส่งเสริมทางวิชาการเพียงอย่างเดียว”

โดยได้จัดตั้งโครงการ “บริษัทสร้างความดี” ที่เน้นการเสริมสร้างทักษะอาชีพให้แก่เด็ก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มเด็กนักเรียนในโรงเรียนผ่านการมีรุ่นพี่เป็นต้นแบบของการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และต่อยอดสู่อนาคตที่ดี

อันเป็นผลลัพธ์ที่เห็นผลได้ชัดเจนว่า การมีระบบคัดกรองปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ทำให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดจำนวนเด็กที่จะออกจากระบบการศึกษา และสร้างสรรค์อนาคตของเด็ก ๆ ให้มีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน