“หมอธี” ยันไม่ใช้คำสั่ง คสช.ถอดอธิการฯ 60 ปี ย้ำสภาต้องไปแก้ปัญหา โบ้ย 9 มทร.ถ้าถูกฟ้องต้องสู้เอง

ความคืบหน้ากรณี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับรายงานผลสรุปจากนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ซึ่งเป็นผลประชุมร่วมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กับนายกสภามหาวิทยาลัยและอุปนายกสภามหาวิทยาลัยจาก 58 มหาวิทยาลัยรัฐทั่วประเทศที่เป็นส่วนราชการ ประกอบด้วย 3 แนวทาง คือ 1.คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ผูกพันเฉพาะกรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กาญจนบุรีที่มีปัญหาอธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปี และยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน จึงไม่สามารถเป็นเกณฑ์กลางได้ 2.กรณีที่เกิดขึ้นกับมรภ.กาญจนบุรี จะไม่ผูกพันกับหน่วยงานมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ และ 3.กรณีที่เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยไปหาวิธีการแก้ไขปัญหากันเอง ทั้งนี้หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติสภามรภ.กาญจนบุรี ที่แต่งตั้งนายปัญญา การพานิช ซึ่งมีอายุเกิน 60 ปี รักษาการแทนอธิการบดี มรภ.กาญจนบุรี โดยศาลวินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยหลังได้รับข้อเสนอ 3 แนวทางดังกล่าว นพ.ธีระเกียรติ โยนกลับไปให้สภามหาวิทยาลัยแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องเหมือนกับมรภ.กาญจนบุรี ขณะที่นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ปรึกษาที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เสนอให้ นพ.ธีระเกียรติ ใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา สั่งการให้สภามหาวิทยาลัยถอดถอนอธิการบดีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปออกจากตำแหน่ง ซึ่งปัจจุบันเหลือมหาวิทยาลัยที่มีอธิการบดี/รักษาการอธิการบดีอายุเกิน 60 ปีจำนวน 22 สถาบันจากทั้งหมด 23 สถาบันเนื่องจากนายชูศักดิ์ เอกเพชร อายุ 67 ปี รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้ว

เมื่อวันที่ 21 กันยายน นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า กรณีที่มีผู้เสนอให้ใช้คำสั่งคสช.ที่ 39/2559 สั่งสภามหาวิทยาลัยให้ถอดอธิการบดีอายุเกิน 60 ปีนั้น สำหรับปัญหานี้ตนยืนยันว่าสภามหาวิทยาลัย ต้องพิจารณาหาทางออกเอง โดยยึดตามกฎหมายๆ กำหนดว่าอย่างไร ทุกฝ่ายต้องทำตามเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาฟ้องร้องเหมือนกับ มรภ.กาญจนบุรีขึ้นอีก ส่วนที่ถามว่ากลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั้ง 9 แห่ง ไม่ถือเรื่องนี้เป็นสาระและจะไม่ได้มีการพูดคุยกันเพราะเห็นว่าการเลือกอธิการบดีขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัย ไม่ใช่เรื่องของสปิริตว่าจะลาออกหรือไม่ลาออกนั้น แล้วแต่ทาง มทร.ที่ไม่ถือเรื่องนี้เป็นสาระ แต่ตนยืนยันว่าทุกสภามหาวิทยาลัยต้องคิด แก้ไขปัญหาในเชิงบริหารให้ดี เพราะทุกอย่างมีกฎหมายควบคุมอยู่ หากสภามหาวิทยาลัยสรรหาอธิการบดีได้แล้ว และพบว่าการสรรหาครั้งนี้ผิดกฎหมาย จนเกิดการฟ้องร้องต้องไปสู้กันเอาเอง

รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของมทร.อีสาน เคยมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในลักษณะคล้ายกับมรภ.กาญจนบุรี โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ให้ยืนตามคำตัดสินของศาลปกครองชั้นต้น ที่ให้เพิกถอนคำสั่งสภา มทร.อีสาน ที่แต่งตั้ง นายวินิจ โชติสว่าง ซึ่งอายุเกิน 60 ปี ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีสถานภาพเป็นข้าราชการหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา นอกจากนี้ ศาลปกครองชั้นต้นได้เคยพิพากษากรณีของมทร.ศรีวิชัย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 โดยให้เพิกถอนคำสั่งสภา มทร.ศรีวิชัย ที่แต่งตั้งนายประชีพ ชูพันธ์ ซึ่งอายุเกิน 60 ปี ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี โดยศาลวินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะรักษาการอธิการบดีต้องเป็นข้าราชการพลเรือนหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา หรือต้องไม่เกิน 60 ปี อย่างไรก็ตามในชั้นศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดี เนื่องจากนายประชีพ ได้ลาออกจากตำแหน่งรักษาการอธิการบดีก่อน

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ขณะที่มรภ.กาญจนบุรี ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ว่าแม้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2560 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา ในข้อ 2 ที่กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษามีอำนาจแต่งตั้งบุคคลใดที่มิได้เป็นข้าราชพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา มาดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้ แต่คำสั่ง คสช.ไม่ได้ยกเว้นเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในเรื่องอายุ จึงเป็นเพียงการรองรับให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา สามารถเป็นอธิการบดีได้เท่านั้น แต่คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ยังต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ และแม้ พ.ร.บ.มรภ.และ พ.ร.บ.ก.พ.อ.ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติเรื่องอายุไว้ชัดเจน แต่ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการซึ่งข้าราชการพลเรือนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องอายุไว้ว่าข้าราชการที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้วเป็นอันพ้นจากราชการ จึงถือว่าคุณสมบัติเรื่องอายุที่ต้องไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ เป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีและรักษาการอธิการบดี ที่จำเป็นต้องมี

 

ที่มา : มติชนออนไลน์