นาโนเทคพัฒนา R&D เดินหน้าเครือข่ายวิจัย พลักดันไทยสู่ยุค 4.0

นาโนเทคลงนามความร่วมมือดำเนินโครงการ “ศูนย์เครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี” ระยะที่ 3 ร่วมกับ 11 ศูนย์เครือข่าย จาก 7 มหาวิทยาลัย มุ่งสร้างเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยี พร้อมผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จริงในเชิงเศรษฐกิจและเชิงสังคม

“ดร.วรรณี ฉินศิริกุล” ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า นาโนเทคตระหนักในความสำคัญของการร่วมมือกับกลุ่มวิจัยที่ทำงานด้านนาโนเทคโนโลยี จึงจัดทำโครงการศูนย์เครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี (Research Network of Nanotechnology : RNN) ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งการลงนามครั้งนี้ในปี 2561 เป็นการดำเนินงานในระยะที่ 3 แล้ว

โดยศูนย์นาโนเทคได้จับมือกับ 11 ศูนย์เครือข่าย จาก 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันวิทยสิริเมธี, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

“เป้าหมายของความร่วมมือคือเกิดเครือข่ายวิจัยเฉพาะทางที่ทำงานวิจัยร่วมกันกับนาโนเทค-สวทช. เพื่อสร้างฐานเทคโนโลยี และต่อยอดผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์ และเกิดผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยการดำเนินงานตามหัวข้อวิจัยที่ศูนย์นาโนเทคมุ่งเน้นมี 5 ขอบข่ายวิจัย ได้แก่ นาโนเทคโนโลยีเพื่อการแพทย์และสาธารณสุข, นาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม, นาโนเทคโนโลยีเพื่ออาหารและการเกษตร, นาโนเทคโนโลยีเพื่อมาตรวิทยาและการวิเคราะห์ทดสอบ และนาโนเทคโนโลยีเพื่อพลังงาน”

สำหรับผลงานที่จะร่วมกันพัฒนาใน 3 ปีนี้ (2561-2564) เช่น การพัฒนาชุดตรวจติดตามทางการแพทย์, ระบบบำบัดน้ำเสียในอุตสาหกรรม, เซ็นเซอร์แบบพกพาสำหรับการตรวจวัดโลหะหนักและสารปนเปื้อน ระบบอัจฉริยะเพื่อใช้งานด้านการเกษตร, อนุภาคนาโนสำหรับใช้เป็นสารมาตรฐานสำหรับการสอบเทียบ เป็นต้น โดยคาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการจะสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 1,200 ล้านบาท

“โครงการนี้เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานด้านการวิจัย และพัฒนา ในการพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย รวมถึงนโยบายการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่จะนำพาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0”

“ดร.วรรณี” กล่าวถึงความสำเร็จจากความร่วมมือที่ผ่านมาว่า ในระยะที่ 1 คือปี 2549-2554 สามารถสร้างกลุ่มวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี ผลิตผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติได้มากกว่า 400 เรื่อง รวมถึงมีส่วนในการสนับสนุนการผลิตบุคลากรด้านนาโนเทคโนโลยีในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก เป็นจำนวนรวมกว่า 700 คน

ขณะที่ในระยะที่ 2 ปี 2556-2560 สามารถผลิตผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติกว่า 500 เรื่อง รวมถึงสนับสนุนการผลิตบุคลากร นิสิตนักศึกษา ปริญญาโท และปริญญาเอก รวมกว่า 200 คน และเกิดผลงานสิทธิบัตรกว่า 40 เรื่อง ตลอดจนมีการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ อาทิ การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาทางแสงไทเทเนียมไดออกไซด์เพื่อการประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม, ตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับลดก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น