สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดการประชุม “นักวิจัยรุ่นใหม่พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ครั้งที่ 18” พร้อมกับมอบรางวัลเชิดชู 10 นักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่น ประกอบด้วย รางวัล 2019 TRF-OHEC-Clarivate Analytics Research Excellence Award และ 2019 TRF-OHEC-Scopus Researcher Award เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่วุฒิเมธีวิจัย สกว. ตลอดจนนักวิจัยรุ่นกลาง และนักวิจัยรุ่นใหม่ ที่มีผลงานวิจัยจากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกว.ในระดับที่ดีเยี่ยมทั้งคุณภาพงานวิจัย ผลกระทบต่อวงวิชาการ และสังคม
“พล.อ.อ.ดร.ประจิน จั่นตอง” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาเรื่อง “ปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมอย่างไรให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ” ว่า อุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทยถือว่ามีความแข็งแกร่งอยู่แล้วบางส่วน เพียงแต่ต้องเสริมเรื่องดิจิทัล การแพทย์ หุ่นยนต์ การบริการท่องเที่ยว การบินและโลจิสติกส์ ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
“เราต้องมาดูว่าในแต่ละสาขาสอดคล้องกับแผนแม่บทส่วนใด มีบุคลากรเครือข่าย ผู้สนับสนุน และเงินทุนหรือไม่ โดยรัฐบาลจะเตรียมความพร้อมให้นักวิจัยมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยการหลอมรวมงานวิจัยเข้ากับนวัตกรรมที่มีสิทธิบัตรเข้ามาเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อเกิดการต่อยอดผลงานพร้อมกับเชื่อมโยงการทำงานกับหลากหลายหน่วยงาน เพื่อร่วมกันผลิตผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยในเชิงพาณิชย์มากขึ้น”
“อยากจะเชิญชวนให้นักวิจัยร่วมให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ได้เกิดแรงบันดาลใจในการเข้าสู่เครือข่ายวิจัย เพราะไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทาย 2 ด้านคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่มีงบประมาณวิจัยใกล้เคียงกับร้อยละ 1 ของจีดีพี ที่มีเป้าหมายขยับเป็นร้อยละ 1.5 ภายใต้ความท้าทายว่า งานวิจัยต้องมีผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดการต่อยอดให้สามารถบรรลุแผนแม่บทใน 5-10 ปีข้างหน้า”
ดังนั้น จากนี้ไปการทำงานวิจัยต้องสร้างให้เกิดโอกาสและผลกระทบ โดยบูรณาการความรู้ความสามารถ การทำงานเป็นทีม พร้อมกับวางแผนงานวิจัยให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ด้าน “ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ” ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า งานประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้นักวิจัยรุ่นใหม่และนักวิจัยรุ่นกลางได้นำเสนอความก้าวหน้าของงานวิจัยที่ได้รับทุน ตลอดจนรับฟังข้อคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิที่จะนำไปสู่การพัฒนางานวิจัยในโครงการ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างประชาคมวิจัยเพื่อนำไปสู่การบูรณาการความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง
ทั้งนั้น มีการมอบรางวัลเชิดชูนักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่นในสาขาต่าง ๆ รวม 10 คน จาก 7 สถาบัน ประกอบด้วย รางวัล 2019 TRF-OHEC-Clarivate Analytics Research Excellence Award โดยนักวิจัยที่มีผลงานวิจัยโดดเด่น และมีคุณูปการรวมถึงผลกระทบเชิงบวกที่มีต่อสาธารณชนในประเทศไทย ได้แก่
“รศ.ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์” ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ด้วยผลงานการพัฒนาออกแบบจำลองโมเลกุล และคำนวณโครงสร้างด้วยวิธีทางเคมีคำนวณที่มีความแม่นยำสูง เพื่อคัดกรองและคัดเลือกตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีศักยภาพสูงไปสังเคราะห์จริงในห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยออกแบบพัฒนาวัสดุดูดซับในการกำจัดสารที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับการนำไปใช้ในภาคสนาม
ส่วนรางวัล 2019 TRF-OHEC-Scopus Researcher Award ได้รับการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์ Elsevier ประกอบด้วย นักวิจัยรุ่นกลาง 5 คน ได้แก่ “รศ.ภก.ดร.ปิติ จันทร์วรโชติ” ภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลงานการควบคุมเซลล์มะเร็งต้นกำเนิดเพื่อพัฒนายาจากกล้วยไม้-ฟองน้ำทะเลสีน้ำเงิน ซึ่งพบในทะเลอ่าวไทย, “รศ.ดร.วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร” ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ผลงานวัสดุอัจฉริยะเพื่อการตรวจวัดทางเคมีเซ็นเซอร์สำหรับตรวจสอบการปนเปื้อนของสารเคมีชนิดต่าง ๆ ซึ่งสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า
“ผศ.ดร.ประสิทธิ์ ทองใบ” สถาบันวิจัยและนวัตกรรมวัสดุนาโนเพื่อพลังงานม.ขอนแก่น ผลงานคือตัวเก็บประจุไฟฟ้าขนาดจิ๋วประสิทธิภาพสูงจากวัสดุไทเทเนียมไดออกไซด์ให้สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน และไม่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม, “รศ.ดร.ธงไทย วิฑูรย์”ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผลงานการแปรรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นเงิน และ “รศ.ดร.ศากุน บุญอิต” สาขาบริหารการปฏิบัติการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ กับงานวิจัยเรื่องตัวชี้วัดความสามารถของกระบวนการบริหารซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมบริการ 7 ประเภท
ขณะที่รางวัล 2019 TRF-OHEC-Scopus Young Researcher Award ได้มอบให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ 4 คน ได้แก่ “ผศ.ดร.บูรภัทร์ อินทรีย์สังวร” ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ มีผลงานตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงสำหรับการย่อยสลายสารอินทรีย์มลพิษ และการสังเคราะห์สารอินทรีย์ที่มีมูลค่า, “ผศ.ดร.ศิรินาฏ คำฟู” หัวหน้าหน่วยชีววิทยาระดับโมเลกุล ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ผลงานการศึกษาภาวะหัวใจล้มเหลวจากภาวะเหล็กเกินในผู้ป่วยทาลัสซีเมีย
“ผศ.ดร.ศิวพล ศรีสนพันธุ์” ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผลงานการพัฒนาเครื่องกำเนิดพลาสมาเย็นที่สามารถทำงานได้ที่บรรยากาศปกติ และ “ผศ.ดร.ธันยพร จันทร์กระจ่าง” คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานคือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการแบ่งปันสิทธิในการใช้และดูแลป่าไม้ระหว่างรัฐและชุมชน : การศึกษาจากป่าชุมชนในประเทศไทย