เปิดแผนยกเครื่องอาชีวะ ติดปีกแรงงานเพิ่มสปีด ศก.ประเทศ

ปัจจุบันรายได้ประชาชาติต่อหัวของประเทศไทยในปี 2560 อยู่ที่ 5,960 ดอลลาห์สหรัฐ หรือประมาณ 16,300 บาทต่อเดือน และจากการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรไทยพบผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ถึงร้อยละ 74.84 ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในเรื่องของอาชีวศึกษา เพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะสูง

สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย จึงทำงานวิจัยเรื่อง “พัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง” โดย “ดร.ธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์” ผู้อำนวยการด้านนโยบายสาธารณะ สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย ฉายภาพถึงแรงงานไทยว่า 27 ล้านคนมีการศึกษาระดับประถมศึกษา หรือต่ำกว่า และแรงงานกลุ่มใหญ่ 37 ล้านคน มีการศึกษาระดับ ม.ต้น หรือต่ำกว่า ดังนั้น โจทย์คือจะพัฒนาคนกลุ่มนี้ให้มีทักษะสูงได้อย่างไร เพื่อสอดรับ technology disruption ซึ่งภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะใหม่ ๆ และมีทักษะหลากหลาย

“จำนวนนักเรียนที่เรียนต่อสายอาชีวศึกษายังไม่ได้กระเตื้องมาอยู่ในสัดส่วนที่ภาครัฐเคยวางไว้ คือ อยู่ที่ 50 : 50โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้วจำนวนนักเรียนอาชีวศึกษาอยู่ที่ 30% กว่า ๆ ยังตามหลังจำนวนนักเรียนสายสามัญอยู่มาก สวนทางกับภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการคนด้านอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี”

“วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ” นักวิเคราะห์นโยบาย สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ปัญหาหลักของอาชีวศึกษาไทย คือ งบประมาณสนับสนุนไม่เพียงพอ เห็นได้จากงบประมาณรายหัว ปีการศึกษา 2562 ของนักเรียนสายอาชีวศึกษายังน้อยกว่าสายสามัญ 13% โดยนักเรียนสายอาชีวศึกษาได้งบประมาณรายหัว 25,042 บาท/คน/ปี นักเรียนสายสามัญได้งบประมาณรายหัว 28,261 บาท/คน/ปี

ขณะที่งบประมาณด้านครุภัณฑ์การศึกษาของอาชีวศึกษาก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งงบประมาณครุภัณฑ์การศึกษาเฉลี่ยรวม 10 ปี คิดเป็น 7.3% ของงบประมาณด้านการศึกษาอาชีวศึกษาทั้งหมด (งบประมาณทั้งหมดของปี 2562 อยู่ที่ 27,000 ล้านบาท) รวมถึงมีจำนวนเครื่องจักรไม่สอดคล้องกับจำนวนนักเรียน โดยไทยมีจำนวนเครื่องจักรต่อนักเรียน 1 : 100 และอัพเกรดเครื่องจักรทุก 14 ปี ส่งผลให้ผู้เรียนไม่สามารถเข้าถึงเครื่องจักรอย่างทั่วถึง และเครื่องจักรที่เรียนก็ถือว่าตกยุค ไม่ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว


“อีกปัญหาสำคัญ คือ บุคลากร โดยไทยมีจำนวนครูต่อนักเรียน 1 : 50 แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่มีสัดส่วน 1 : 25 หรืออินโดนีเซียอยู่ที่ 1 : 45 นอกจากนั้น หลักสูตรของไทยยังเน้นทฤษฎีมากกว่าการฝึกปฏิบัติ เพราะมีระยะเวลาการศึกษาในห้องเรียน 83.37% และฝึกงาน 16.67% ขณะที่ประเทศเยอรมนี, ฟินแลนด์ และมาเลเซีย เน้นการฝึกงานอย่างมาก โดยนักเรียนจะมีเวลาในการฝึกงานถึง 70-80% และประเทศสิงคโปร์จะให้ระยะเวลาในห้องเรียนกับฝึกงานอย่างละ 50%”

“ดร.ธราดล” เสนอแนะว่า เพื่อยกระดับอาชีวศึกษาและแรงงานให้มีคุณภาพ รัฐบาลต้องมีนโยบายสนับสนุนเรียนฟรี ปวช. และ ปวส. ทั้งอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน ครอบคลุมสายช่าง และสายพาณิชย์ พร้อมทั้งควรให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติม (โบนัส) อีก 10% ตามสัดส่วนของนักเรียนที่สอบผ่านมาตรฐานประเมินปลายปีของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน

นอกจากนี้ รัฐควรสร้างระบบทวิภาคีอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการออกกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป ต้องมีอัตราส่วนลูกจ้างต่อนักเรียนฝึกงาน 50 : 2 ซึ่งรัฐและผู้ประกอบการต้องสนับสนุนค่าจ้างให้เด็กฝึกงาน แต่สัดส่วนของการออกเงินสนับสนุนแตกต่างกันตามขนาดธุรกิจ เช่น หากเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี รัฐและผู้ประกอบการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายกันฝ่ายละ 50% แต่หากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 100%

“ไม่เพียงเท่านั้น ภาคอุตสาหกรรม สมาคมผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหลักสูตร โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดตั้ง internship centre ในการเป็นศูนย์กลางระหว่างภาคเอกชน สถานศึกษา และนักเรียน เพื่อกระจายเด็กฝึกงานไปยังสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ”

ในทางเดียวกัน หลักสูตรของอาชีวศึกษาควรปรับใหม่ ให้มีการเรียนภาคทฤษฎี 3 เดือน สลับกับการฝึกงาน 3 เดือน เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสฝึกงาน 50% ตลอดระยะเวลาการเรียน ซึ่งหากพวกเขาได้รับเงินค่าจ้างระหว่างการฝึกงาน จะทำให้มีรายได้ระหว่างเรียนประมาณ 50,000 บาท/ปี โดยสามารถใช้เป็นค่าครองชีพได้ และเมื่อมีค่าครองชีพมากพอ จะช่วยลดการตัดสินใจเลิกเรียนกลางคัน สำหรับคนที่ไม่เข้าร่วมโครงการฝึกงาน รัฐควรขยายวงเงินกู้ยืมการศึกษาในส่วนค่าครองชีพจาก 28,800 บาท เป็น 48,000 บาท ในทุกระดับชั้น

“ดร.ธราดล” กล่าวเพิ่มเติมว่า การยกระดับแรงงานไทยนั้นไม่เพียงมุ่งเป้าไปที่กลุ่มอาชีวศึกษา ต้องมองถึงการเพิ่มทักษะการทำงานให้กับประชาชนด้วยโดยรัฐควรให้คูปองฝึกทักษะมูลค่า 3,500 บาท จำนวน 1 ล้านใบ/ปี เพื่อให้ประชาชนนำคูปองไปใช้กับสถานศึกษาที่เปิดรายวิชา หรือหลักสูตรที่สอนอยู่แล้วให้กับบุคคลภายนอก หรือสถาบันเอกชนที่จัดหลักสูตรอบรมระยะสั้น

การดำเนินงานในเรื่องนี้จะช่วยยกระดับ “แรงงานไทย” ทั้งระบบ ทั้งยังถือเป็นการเตรียม “คน” ให้ “พร้อม” กับความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคต