การศึกษาจากล่างขึ้นบน มุ่งท้องถิ่น-ลดเหลื่อมล้ำ

การพัฒนาการศึกษาไทยที่ผ่านมายังไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างการศึกษาในระดับห้องเรียนเท่าที่ควร และแม้จะมีนวัตกรรมการศึกษาเกิดขึ้นมากมาย แต่ไม่สามารถขยายผลได้อย่างเป็นรูปธรรม

โดยล่าสุด “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสักขีพยานพิธีลงนามความร่วมมือภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การศึกษา และพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง ระหว่างคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง กับตัวแทนภาคีร่วมขับเคลื่อนในจังหวัด และภาคีการศึกษาไทย เพื่อ “ปลดล็อก” ปัญหา และอุปสรรคเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง โดยสนับสนุนโครงการนำร่องใน 25 โรงเรียนกล้าเปลี่ยน หวังเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกกลุ่มรอบด้านให้เด็กไทยมีคุณภาพ และสมรรถนะความเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21

“รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล” รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า การพัฒนาการศึกษาไทยที่ผ่านมาเป็นการสั่งการจากบนลงล่าง ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างการศึกษาในระดับห้องเรียนอย่างแท้จริง จึงเกิดการรวมตัวของ TEP (Thailand Education Partnership) ซึ่งเป็นภาคีการศึกษาไทย อาทิ สกว. สถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิสยามกัมมาจล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

“TEP ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ขับเคลื่อนจนเกิดเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใน จ.ระยอง, ศรีสะเกษ และสตูล ซึ่งเป็น 3 จังหวัดแรกของประเทศไทยบนฐานคิด sandbox อันเป็นพื้นที่ทดลองหาแนวทางในการพัฒนาการศึกษาจากล่างขึ้นบน ให้เกิดการจัดการศึกษาที่ตรงตามความต้องการของคนในพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อันจะนำไปสู่การพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป”

“ทีดีอาร์ไอร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการ ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ศึกษาวิจัยปัญหาและอุปสรรคในการจัดการศึกษา ส่วนสถาบันอาศรมศิลป์ และมูลนิธิสยามกัมมาจลหนุนเสริมการพัฒนาสถานศึกษาและการปรับกลไกระดับพื้นที่ของ จ.ระยองและศรีสะเกษ ในขณะที่ สกว.ท้องถิ่น และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นพี่เลี้ยงโรงเรียน สนับสนุนกลไกจังหวัด และนวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดสตูล รวมถึงสนับสนุนงบประมาณการวิจัยเชิงปฏิบัติการและการติดตามประเมินผลในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 3 จังหวัด”

ขณะที่ “รศ.ประภาภัทร นิยม” อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการวิจัยพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของ จ.ระยองและศรีสะเกษ กล่าวว่า ในส่วนของ จ.ระยองได้ทดลองปฏิบัติการโรงเรียนกล้าเปลี่ยนในโรงเรียนต้นแบบจำนวน 25 โรงเรียนในปีแรกภายใต้หลักการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบโรงเรียน (4.0 Whole School Transform)เพื่อสร้าง smart schools

“โดยปรับพื้นฐานระบบการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนหลายด้านให้แก่ผู้อำนวยการ ครู เช่น การเปลี่ยนแนวคิดวิสัยทัศน์ และสภาพแวดล้อมของการจัดการศึกษา จากระบบปิดไปสู่ระบบเปิดปรับหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้เป็น active learning จัดพื้นที่การเรียนรู้ให้เหมาะสมกับหลักสูตร รวมถึงปรับระบบการวัดและประเมินผลให้เป็นไปเพื่อการพัฒนามากกว่าการตัดสินผู้เรียน”

“ภายใต้นวัตกรรมหลักสูตรฝึกอบรมปฏิบัติการผู้อำนวยการและครูในโรงเรียนต้นแบบกล้าเปลี่ยน (Mini M.Ed. in Holistic Education) ซึ่งสถาบันอาศรมศิลป์ร่วมกับโรงเรียนรุ่งอรุณได้พัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ ขึ้นมา ขณะที่โครงการวิจัยก็จะมาเติมนวัตกรรมพื้นฐานที่จำเป็น เช่นภาษาไทย คณิตศาสตร์ และบูรณาการ พร้อมทั้งติดตั้งระบบประเมินในระดับห้องเรียนเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาผู้เรียน เริ่มจากประถม 1 ประถม 4 และมัธยม 1 ในปีการศึกษา 2562 และขยายการดำเนินการไปทีละชั้นในปีถัดไป”

โดยภาคีภายนอกจะเป็นเพียงหน่วยสนับสนุนภาคีในพื้นที่ แต่ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมนั้นมีหัวใจอยู่ที่ความรู้สึกเป็นเจ้าของ และการจับมือทำงานร่วมกันของภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทุกระดับ โดยมีการพัฒนาโรงเรียน และนักเรียนเป็นเป้าหมายต่อไป