มติก.ค.ศ.เห็นชอบแบบประเมินเลื่อนเงินเดือนครู เปิดทางสพฐ.จัดเกณฑ์เฟ้น “บิ๊กร.ร.-เขตพื้นที่ฯ”

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือกรณี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยกเลิกแบบประเมินความดีความชอบปี 2562 เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน ซึ่งมี 3 ด้าน 13 แฟ้ม เนื่องจากสร้างภาระและความยุ่งยากให้กับครูผู้รับการประเมิน โดยได้เห็นชอบแบบประเมินฯใหม่ ซึ่งไม่เป็นภาระครู และให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้ประเมิน ทั้งนี้การประเมินจะมีขั้นตอนการตรวจสอบตามลำดับขั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยจะเริ่มใช้ประเมินกับครูตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ถึง วันที่ 31 มีนาคม 2562 นี้

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมติเห็นชอบเรื่องสำคัญ เดินหน้าคัดเลือกครู ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ตามมาตรา 50 ในกรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษที่ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ไม่สามารถดำเนินการสอบแข่งขันได้ หรือการสอบแข่งขันอาจทำให้ไม่ได้บุคคลต้องตามประสงค์ของทางราชการ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ อาจคัดเลือกบุคลากรเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาโดยวิธีอื่นได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ก.ค.ศ.กำหนด ในกรณี ดังนี้ กรณีมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีมีสัญญาณผูกพันตามโครงการพิเศษ /นักเรียนทุน กรณีการบรรจุในพื้นที่เกาะ บนภูเขาสูง เสี่ยงภัย หรือพื้นที่พิเศษ หรือการบรรจุและแต่งตั้งในสถานศึกษาที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่ส่วนราชการกำหนด และกรณีมีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษอื่น ๆ ที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) /อ.ก.ค.ศ. อนุมัติ โดยมีเงื่อนไข คือ บรรจุและแต่งตั้งผู้ได้รับคัดเลือกที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานตำแหน่ง สำหรับกรณีการบรรจุในพื้นที่เกาะ บนภูเขาสูง เสี่ยงภัยฯ มีเงื่อนไขว่าต้องอยู่ในสถานศึกษาที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งไม่น้อยกว่า 4 ปี

“ถือเป็นครั้งแรกที่ ได้มีการยกร่างหลักเกณฑ์การคัดเลือกครูตามมาตรา 50 ซึ่งเป็นมาตราที่งดงาม ให้ได้มีการใช้ตามกฎหมายอย่างแท้จริง เพื่อให้แต่ละพื้นที่สามารถคัดเลือกครูที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ ทั้งในพื้นที่ห่างไกล เสี่ยงภัย หรือแก้ปัญหากรณีประกาศรับครูในสาขาวิชาที่ไม่มีผู้มาสมัคร ทั้งนี้การพิจารณารับครูตามาตรา 50 จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และกศจ. ต้องสามารถชี้แจงเหตุผลได้ ไม่ใช่เลือกจากความชอบ หรือให้ผู้ใหญ่หรือใครมาสั่ง การดำเนินการต้องทำเป็นองค์คณะ หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์มี่ก.ค.ศ. กำหนด หรือถูกร้องเรียน ว่า เป็นการบรรจุที่ผิด ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ”นพ.ธีระเกียรติกล่าว ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังเห็นชอบกระจายอำนาจให้ส่วนราชการต้นสังกัด อย่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สามารถกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสพท. เองได้ โดยจะเริ่มดำเนินการในคัดเลือกรอบต่อไป ส่วนสำนักงานก.ค.ศ. จะทำหน้าที่คล้ายสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) คอยกำกับดูแลกำหนดมาตรฐานตำแหน่ง

รัฐมนตรีว่าการศธ. กล่าวต่อว่า ขณะที่ยังเห็นชอบตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เสนอ ร่างมาตรฐานตำแหน่งศาสตราจารย์ในสถาบันการอาชีวศึกษา โดยให้นำมาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ตามประกาศของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) มาบังคับใช้กับสถาบันการอาชีวศึกษาได้ นอกจากนี้ตนได้สั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ ทบทวนคำสั่งตามอำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) ที่เกี่ยวข้องกับศธ. ทั้งหมด ก่อนที่คสช.จะพ้นจากตำแหน่ง โดยในส่วนของอำนาจการบรรจุแต่งตั้ง ตามมาตรา 53(3) และ (4) ซึ่งคำสั่งคสช. กำหนดให้เป็นของ ศธจ.โดยความเห็นชอบของ กศจ. จากเดิมที่เป็นอำนาจของผู้อำนวยการการ สพท.และผู้อำนวยการโรงเรียน ก็จะมีการทบทวน รวมถึงมีการกำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ที่กำลังปรับปรุงใหม่ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์