ทุนศึกษา “ไต้หวัน” มาแรง ลดเข้มวีซ่า-กวาดเด็กไทยเรียนต่อ

เด็กไทยแห่เรียนไต้หวันเพิ่มเท่าตัว ปี’61 ยอดพุ่งถึง 3,236 คน เน้นสาขาบริหารธุรกิจ-วิศวะ หลังจากนานาชาติยอมรับมาตรฐานหลักสูตรมากขึ้น ล่าสุดรัฐบาลไต้หวันเพิ่มแรงจูงใจอีกระลอก ปลดล็อกด้านเอกสารรับรอง ไม่ต้องโชว์สถานะการเงินเมื่อขอวีซ่า เพิ่มจำนวน รพ.ตรวจสุขภาพก่อนเดินทาง เปิดแพลตฟอร์มเฉพาะเข้าถึงข้อมูลการศึกษาได้ครบถ้วนที่ “บัญชี TTedu”

ในช่วงที่ผ่านมามีทุนการศึกษาต่างประเทศที่นักศึกษาในไทยให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนการศึกษาจากรัฐบาลไต้หวัน ในระดับปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาเอก ซึ่งในปีนี้รัฐบาลไต้หวันได้ลดความยุ่งยากในขั้นตอนต่าง ๆ พร้อมทั้งมีการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมความเป็น internationalization ส่งผลให้นักศึกษาในไทยสนใจเข้าไปขอรับทุนการศึกษาเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

“ถง เจิ้น หยวน” ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลไต้หวันมุ่งมั่นที่จะสานสัมพันธ์กับต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทย รวมถึงในช่วงที่ผ่านมาคุณภาพของหลักสูตรการศึกษาของไต้หวันได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้น ถือเป็นคีย์สำคัญที่ส่งผลให้นักศึกษาไทยเข้ามาขอทุนมากขึ้น

ประกอบกับรัฐบาลไต้หวันส่งเสริมการศึกษาโดยใช้นโยบายมุ่งใต้ (Southbound Policy) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 1990 และได้มีการปรับเป็นนโยบายมุ่งใต้ใหม่ในปี 2016 (New Southbound Policy) เพราะต้องการสร้างโอกาสปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งในด้านการค้า ด้านการลงทุน และด้านวัฒนธรรม ทำให้นักศึกษามองเห็นโอกาสในการเข้าไปศึกษาที่ประเทศไต้หวันมากขึ้น

สำหรับทุนการศึกษาที่นักศึกษาไทยให้ความสนใจมากที่สุดใน 3 ทุนของไต้หวัน คือ

1) ทุนของกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน

ทุนนี้จะช่วยสนับสนุนค่าเรียนมูลค่าสูงสุด 40,000 ดอลลาร์ไต้หวัน (NTD) หรือประมาณ 40,600 บาทต่อเทอม แต่หากเกินกว่านี้ มหาวิทยาลัยที่นักศึกษาไทยเข้าไปเรียนจะใช้วิธีลดค่าเทอมให้ เพื่อลดการจ่ายส่วนต่างที่นักศึกษาต้องรับภาระเอง

นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือนให้กับนักศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีที่ NTD 15,000 หรือประมาณ 16,000 บาท ระดับปริญญาโท NTD 20,000 หรือประมาณ 21,000 บาท และปริญญาเอก NTD 20,000 หรือประมาณ 21,000 บาท โดยปริญญาตรีจะให้ทุนเป็นระยะเวลาสูงสุด 4 ปี ตามมาด้วยปริญญาโท 2 ปี และปริญญาเอก 4 ปี

2) ทุนจากกองทุนความร่วมมือและพัฒนานานาชาติ

ทุนจากกองทุนความร่วมมือและพัฒนานานาชาติ (International Cooperation and Development Fund) หรือ ICDF ทุนนี้จะช่วยสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับชั้นประหยัด ค่าเรียนทั้งหมด ค่าที่พัก ค่าประกัน ค่าหนังสือ และค่าใช้จ่ายรายเดือนให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี NTD 12,000 หรือประมาณ 12,800 บาท ปริญญาโท NTD 15,000 หรือประมาณ 16,000 บาท และปริญญาเอก NTD 17,000 หรือประมาณ 18,000 บาท

ทุนนี้จะให้กับนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติ และให้ประมาณ 5 ทุนต่อปี โดยระยะเวลาการได้ทุนในระดับปริญญาตรีจะให้ทุนเป็นระยะเวลาสูงสุด 4 ปี ปริญญาโท 2 ปี และปริญญาเอก 4 ปี

3) ทุนของกระทรวงเทคโนโลยี

ทุนของกระทรวงเทคโนโลยีไต้หวัน จะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายเดือนให้กับนักศึกษาเดือนละ NTD 30,000 หรือประมาณ 32,000 บาท และเป็นทุนที่ให้กับนักศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเท่านั้น รวมจำนวน 2 ทุน และระยะเวลาการให้ทุนจะอยู่ที่ 2-3 ปี

“รัฐบาลไต้หวันเล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยกำลังเผชิญกับยุค globalization ที่ส่งผลให้ต้องมีการปรับตัว ต้องเพิ่มความเป็นนานาชาติในระบบการศึกษา จึงมีนโยบายด้านการศึกษาที่ชัดเจนตั้งแต่การสร้างสภาพแวดล้อม เพื่อให้นักศึกษาจากหลากหลายประเทศได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน และกระตุ้นความเป็น internationalization ในการศึกษาระดับอุดมศึกษา ด้วยการให้ทุนการศึกษากับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้จำนวนนักศึกษาจากต่างชาติเข้ามาศึกษาในไต้หวันเพิ่มขึ้นทุกปี และจำนวนทุนก็เพิ่มด้วยเช่นกัน พร้อมกันนี้รัฐบาลไต้หวันได้พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อเผยแพร่การเรียนในไต้หวันเป็นภาษาไทยที่ครอบครบทุกเรื่องในการศึกษา เมื่อนักศึกษาสะดวกในการเรียน ยิ่งทำให้เข้ามาเรียนเพิ่มขึ้นด้วย”

“ถง เจิ้น หยวน” ยังให้ข้อมูลอีกว่า ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ได้ประยุกต์ใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น เพื่อให้ผู้สนใจเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกขึ้น รวมถึงได้สร้างบริการด้านข้อมูลการศึกษาบนแพลตฟอร์ม Line เมื่อต้นปี 2018 โดยจัดตั้งเป็นชื่อ “บัญชี TTedu” เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลรวมด้านการศึกษา ในขณะเดียวกันยังสามารถใช้ภาษาไทยเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มได้ รวมถึงได้ลดขั้นตอนรับรองการแปลเอกสารสำคัญกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เช่น ใบรับรองการจบการศึกษาจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ และเพิ่มความสะดวกด้านวีซ่าไม่ต้องโชว์สถานะการเงิน และจากเดิมที่มีโรงพยาบาลที่รับการตรวจสุขภาพก่อนเดินทางไปศึกษาที่ไต้หวัน 6 แห่ง ปีนี้ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 48 แห่ง

จากการดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้นักศึกษาไทยเข้ามาศึกษามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากสถิติในปี 2017 พบว่า มีจำนวนนักศึกษาไทยเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาที่ไต้หวัน 2,125 คน ส่วนปี 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 3,236 คน ส่วนประเทศที่นักศึกษาเลือกไปเรียนที่ไต้หวันมากที่สุด คือ ประเทศจีน มียอดรวมปีที่แล้ว 30,000 คน รองลงมา มาเลเซีย 17,000 คน เวียดนาม 13,000 คน อินโดนีเซีย 12,000 คน ญี่ปุ่น 9,000 คน ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 10 ส่วนสาขาที่นักศึกษาไทยนิยมไปเรียน คือ บริหารธุรกิจและวิศวกรรมศาสตร์

“ลดข้อจำกัดในหลายประเด็น จึงหวังว่าจะดึงดูดนักศึกษาไทยให้เรียนที่ไต้หวันเพิ่มขึ้น ไม่แพ้กับที่นักศึกษาไทยสนใจอันดับต้น ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ไม่เพียงแค่ทุนการศึกษาที่เป็นตัวดึงดูดเด็กต่างชาติ แต่คุณภาพการศึกษาของไต้หวัน โดยการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในทวีปเอเชีย โดย QS University Rankings เมื่อปี 2018 มีมหาวิทยาลัยของไต้หวันอยู่อันดับสูงสุดอันดับที่ 11 ของท็อป 100 มหาวิทยาลัยในเอเชีย ส่วนการจัดอันดับโดย Times Higher Education World University Rankings มหาวิทยาลัยของไต้หวันติดอันดับสูงสุดที่อันดับ 33 จากมหาวิทยาลัยท็อป 250 แห่งในทวีปเอเชีย-แปซิฟิก นอกจากนั้น ค่าครองชีพที่ไต้หวันไม่แพง จึงเป็นข้อได้เปรียบที่คนจากหลายประเทศสนใจ และไปเรียนที่ไต้หวันเพิ่มขึ้นทุกปี”

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า เนื่องด้วยรัฐบาลไทยกำลังผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐาน และมุ่งสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลักก่อน คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ การเกษตรแปรรูป การท่องเที่ยวมูลค่าสูง อาหาร เครื่องจักรและหุ่นยนต์ เศรษฐกิจดิจิทัล ไบโอเคมี พาสปอร์ตการรักษา การบินและโลจิสติกส์

ด้วยเหตุนี้ในปีนี้สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย จึงร่วมตอบสนองต่อความต้องการของนักธุรกิจชาวไต้หวันในไทย โดยคัดเลือกนักเรียนทุนที่มีความประสงค์จะไปศึกษาต่อในไต้หวันที่สอดคล้องกับความต้องการบุคลากรด้านดังกล่าวก่อนในปีการศึกษา 2019 ถือเป็นการร่วมมือเพื่อส่งเสริมการศึกษา เศรษฐกิจ และการพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ฝ่าย