“9 มทร.” เตรียมถก 28 มิ.ย. หลังยอดรับ น.ศ.ผ่าน “ทีแคส 62” ต่ำกว่าเป้า

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยกรณีการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ประจำปีการศึกษา 2562 ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นทั้ง 5 รอบแล้ว พบว่าจำนวนผู้สมัครน้อยกว่าจำนวนที่นั่งที่มหาวิทยาลัยเปิดรับถึง 13% จากปีที่ผ่านมา และมีที่นั่งเหลือมากกว่า 2 แสนที่นั่งนั้น ว่า ในส่วนของ มธ.ภาพรวมการรับนักศึกษาเป็นด้วยดี ในแต่ละปี ทางมหาวิทยาลัยกำหนดเป้าหมายรับไว้จำนวน 9,000 – 10,000 คน ซึ่งในปี 2562 มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาได้ 9,200 คน ถือว่าตรงกับเป้าหมายที่มหาวิทยาลัยวางไว้ ส่วนในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้หารือถึงประเด็นปรับปรุงแก้ไข หรือรวมรอบสอบ ทีแคส ในปีการศึกษา 2563 หรือไม่นั้น ที่ประชุมยังไม่ได้หารือถึงประเด็นดังกล่าว เพราะในการประชุม ทปอ.เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นเพียงการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานเท่านั้น ทปอ.จะหารือการปรับปรุงพัฒนาระบบทีแคส อีกครั้งในเดือนกรกฎาคม

“ผมมองว่าการแก้ไขหรือปรับระบบทีแคส เป็นการแก้ไขปัญหาปลายทาง ควรที่จะแก้ไขปัญหาต้นทางด้วย คือมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด เพราะขณะนี้จำนวนผู้เรียนลดน้อยลง มหาวิทยาลัยควรปรับลด และพัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพมากขึ้น เนื่องจาก พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ได้กำหนดเรื่องการพัฒนาการศึกษาในทุกช่วงวัย ซึ่งเป็นโอกาสให้มหาวิทยาลัยเปิดสอนบุคคลอื่น เช่น คนในวัยทำงาน ผู้สูงอายุ หรือผู้สนใจพัฒนาทักษะของตน โดยจะเปิดสอนหลักสูตรระยะสั้น เป็นต้น” นายชาลี กล่าว

นายชาลีกล่าวต่อว่า ในส่วนของ มธ.มีมาตรการรับมือเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือ มีแนวทางปรับลดหลักสูตรที่คุณภาพไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ไม่สามารถแข่งขันได้ โดยมีเกณฑ์ในการวัด คือ วัดจากตัวชี้วัดหลักสูตร และผลผลิต หรืออัตราการทำงานของบบัณฑิตที่จบมามีจำนวนว่างงานมากหรือไม่ และวัดจากจำนวนผู้สมัครเข้าเรียน มัจำนวนน้อยกว่าเป้าหมายหรือไม่ หากมีผู้เรียนน้อยกว่าเป้าหมายแสดงว่าหลักสูตรดังกล่าวอาจจะไม่เป็นที่นิยมควรต้องปรับลด นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเตรียมเปิดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ เน้นสมรรถนะในการเรียนการสอน ซึ่งมธ.ได้พยายามชักชวนให้มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ.ปรับตัวในลักษณะนี้บ้างแล้วเพื่อให้มหาวิทยาลัยไทยปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน

ด้านนายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กล่าวว่า โดยภาพรวมแล้วมหาวิทยาลัยกลุ่ม มทร. รับนักศึกษาต่ำกว่าเป้าหมาย อย่างในมทร.อีสาน รับนักศึกษาต่ำกว่าเป้า 5% แม้ในภาพรวมจะกระทบน้อย แต่ทางมหาวิทยาลัยต้องเตรียมพร้อมในการรับมือเช่นกัน ซึ่งตนจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุม ทปอ.มทร. ในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะมีตัวแทนจาก ทปอ.เข้ามาหารือและทำความเข้าใจในระบบทีแคสร่วมกันด้วย

“เมื่อข่าวออกมาว่าทีแคส ปีการศึกษา 2562 มีที่นั่งเหลือกว่า 200,000 ที่นั่ง ทุกคนต่างตกใจกันมากว่าเกิดอะไรขึ้น เบื้องต้นต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีได้สร้างผลกระทบกระเทือนอยากมากให้กับมหาวิทยาลัย และตัวมหาวิทยาลัยเองอาจผลิตบัณฑิตไม่ตรงความต้องการของประเทศ เด็กเปลี่ยนแนวคิดใหม่ จากการทำวิจัยและศึกษาข้อมูล พบจำนวนนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวนมาก แต่มีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่หันไปทำงาน และมองว่าปริญญาไม่สำคัญเหมือนในอดีตแล้ว”

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องบรูณาทำงานภายในร่วมกัน เปิดสาขาที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด หรือเปิดสาขาใน 10 อุตสาหกรรมหลักที่ประเทศต้องการ อย่างใน มทร.อีสาน เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมระบบราง เพื่อพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆในประเทศ พร้อมทั้งร่วมผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เปิดสอนหลักสูตรระยะสั้นให้คนทุกวัยสามารถเข้าเรียนเพื่อพัฒนาตนเองได้หรือออกแบบหลักสูตรให้นักศึกษาสามารถเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วยได้

 

ที่มา : มติชนออนไลน์