Next Step “ดุสิตธานี” ชูกลยุทธ์ “T” พลิกการเรียนสู่นวัตกรรม

ดร.อรรถเวทย์ พฤกษ์สถาพร
สัมภาษณ์

อาจเป็นเพราะการเดินทางของโรงเรียนการโรงแรมดุสิตธานีเกิดขึ้นเมื่อปี 2536 ด้วยการเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านการปฏิบัติการโรงแรม และหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านศิลปะการประกอบอาหารซึ่งเป็นหลักสูตร 2 ปี

ก่อนที่ต่อมาในปี 2539 โรงเรียนการโรงแรมดุสิตธานีจะได้รับอนุมัติให้มีฐานะเป็นวิทยาลัย โดยมีชื่อใหม่ว่า “วิทยาลัยดุสิตธานี” ที่ไม่เพียงจะเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรปริญญาตรี (ภาษาไทย) หากยังมีหลักสูตรปริญญาตรี (หลักสูตรนานาชาติ) และหลักสูตรปริญญาโท รวมถึงการเปิดศูนย์การศึกษาเมืองพัทยาในเวลาต่อมา หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ “วิทยาลัยดุสิตธานี พัทยา”

ถึงวันนี้วิทยาลัยดุสิตธานีเดินทางมาครบอายุ 26 ปีเต็มแล้ว

เป็น 26 ปีที่ปัจจุบันมี “ดร.อรรถเวทย์ พฤกษ์สถาพร” นั่งรักษาการตำแหน่งอธิการบดีวิทยาลัยดุสิตธานีคนล่าสุด ซึ่ง “ดร.อรรถเวทย์” ไม่เพียงเป็นลูกหม้อเก่าของวิทยาลัยดุสิตธานี หากเขายังมองเห็นว่าโลกการศึกษาในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะโลกการศึกษาในธุรกิจอุตสาหกรรมบริการ ดังนั้นทางเดียวที่จะปรับทิศทางของการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน และตอบสนองภาคอุตสาหกรรมบริการอย่างสอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องปรับโมดูลการเรียนการสอนเพื่อมุ่งไปสู่นวัตกรรมในทุกมิติ

ชูกลยุทธ์ T พลิกการเรียน

ผลตรงนี้ จึงเป็นคำตอบที่ทำให้ “ดร.อรรถเวทย์” เชื่อว่าภาคการศึกษาปี 2562 นับจากเทอมแรกที่จะเปิดการเรียนการสอนในเดือนสิงหาคม ทิศทางของการเรียนการสอนของวิทยาลัยดุสิตธานีจะใช้สัญลักษณ์ “T” เข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้ผู้เรียน และคณาจารย์มองไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเรามองเห็นการปรับตัวของธุรกิจโรงแรมทั่วโลก ขณะที่วิทยาลัยดุสิตธานีก็ผลิตบุคลากรออกไปรับใช้ภาคอุตสาหกรรมบริการ เราจึงมองเห็นว่าหากเรายังสอนนักศึกษาให้รู้แต่มิติทางลึกเพียงอย่างเดียว เขาจะไม่มีความรู้ในมุมกว้าง

“อีกอย่างนักศึกษาสมัยนี้เขาไม่ชอบเรียนทฤษฎีเพียงอย่างเดียว เราจึงใช้สัญลักษณ์ตัว T เข้ามาปรับการเรียนการสอน โดยแกนบนของตัว T เขาจะเรียนในภาพกว้าง ขณะที่แกนล่างของตัว T เราจะลงรายละเอียดเชิงลึกเพื่อให้เขามีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การเรียนการสอนของเราตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 โดยเฉพาะภาคทฤษฎีเขาจะหันไปเรียนทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้พวกเขามีความรู้พื้นฐานทางวิชาชีพ ที่สำคัญ เขาสามารถเรียนที่ไหนก็ได้ เพราะเราเปิดโอกาสให้เขาลองค้นหาตัวเองเสียก่อนว่าชอบไหม ถ้าชอบไปต่อ แต่ถ้าไม่ชอบก็ถอยหลังออกมา เพราะเราจะส่งเขาไปเรียนปฏิบัติจริง ๆ ที่กลุ่มโรงแรมในเครือ ซึ่งเราเรียกการเรียนแบบนี้ว่า workbase partner”

“จากนั้นพอขึ้นปี 2 เราจะส่งเขาไปฝึกงานที่อื่นในเทอมแรก พอเทอมสองถึงจะกลับมาเรียนการบริหารเบื้องต้นฉะนั้น เขาไม่เพียงเจออาจารย์ของเราหากเขายังเจอเจ้าหน้าที่โรงแรม, ผู้จัดการโรงแรมคอยเป็นโค้ชช่วยสอนเขาด้วยและเมื่อถึงปี 3 เราจะเอาทฤษฎีที่เขามีในเรื่องการบริหาร และการปฏิบัติมาผสมกัน เพื่อสร้างให้เขากลายเป็นบุคลากรในธุรกิจอุตสาหกรรมบริการ”

“พอขึ้นปี 4 เราจะเติมความเข้มข้นให้เขาเป็น entrepreneur และฝึกให้เขาเรียนรู้ในการจัดการขั้นสูง เพื่อเตรียมฝึกงานเขาอีกครั้งหนึ่ง และที่ผ่านมาเราฝึกงานเขาเพียง 5-6 เดือน แต่ตอนนี้เราปรับใหม่ ฝึกงานครั้งแรก 5 เดือน และหลังจากเรียนปฏิบัติกลับมาเรียนต่อเราจะให้เขาไปฝึกงานก่อนที่จะเรียนจบอีก 2 เดือนครึ่ง ซึ่งเป็นการฝึกงานในสิ่งที่เขาเลือก และสนใจเอง เพื่อให้เขารู้จักตัวเองจริง ๆ ว่าชอบธุรกิจนี้จริงหรือเปล่า แม้เราจะฝึกงานทั้งหมด 7 เดือนครึ่งก็ตาม”

พร้อมร่วมมือนานาชาติ

นอกจากนั้น ในส่วนของความร่วมมือกับต่างประเทศ “ดร.อรรถเวทย์” บอกว่าเรายังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะหลักสูตรนานาชาติที่เรามีความร่วมมือกับทางโรงเรียนการโรงแรมโลซาน สวิตเซอร์แลนด์ และสถาบันสอนการประกอบอาหารเลอ กอร์ดอง เบลอ และตอนนี้เรามีอีก 2-3 มหา”ลัยในฝรั่งเศส และอเมริกาในการแลกเปลี่ยนนักศึกษา กับอาจารย์ ทั้งนั้นเพราะเราต้องการให้บุคลากรของเราออกไปเห็นโลกกว้างมากขึ้น

“ที่สำคัญ ตอนนี้กลุ่มดุสิตธานีไปเปิดดุสิต ฮอสพิทอลลิตี้ แมเนจเมนต์ คอลเลจที่เมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี และคาดว่าจะเปิดได้ในปี 2563 เพราะต้องรอให้ทางกระทรวงศึกษาฯของเขา approve ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาฟิลิปปินส์ที่มาเรียน สำหรับค่าเทอมจะอยู่ที่ประมาณปีละเกือบ 3 แสนบาทก็จะเท่า ๆ กับหลักสูตรปริญญาตรีนานาชาติที่เมืองไทย”

“เพราะต้องยอมรับว่ากลุ่มดุสิตธานีขยายโรงแรมไปทั่วโลก ขณะที่วิทยาลัยเองก็ผลิตบุคลากรออกมาในตลาดไม่พอเพียง เพราะนักศึกษาที่จบจากเราไม่ได้ทำงานในกลุ่มดุสิตธานีทั้งหมด ดังนั้น การที่เราเปิดหลักสูตรต่าง ๆ จึงเป็นการรองรับธุรกิจอุตสาหกรรมบริการในระดับโลก ซึ่งจะเห็นว่าเราไม่ทำเพื่อตัวเองอีกต่อไปแล้ว เพราะเราคิดไปไกลกว่านั้นมาก”

เปิดตลาด EEC-CLMV-จีน

“ผลเช่นนี้ จึงทำให้เรามองหาความร่วมมือกับมหา”ลัยต่าง ๆ ในภาคตะวันออก เพราะเรามีศูนย์การศึกษาเมืองพัทยาอยู่ที่โน่น เพียงแต่ตอนนี้กำลังดู ๆ อยู่ว่าจะสร้างหลักสูตรร่วมกับมหา”ลัยอะไรได้บ้าง ทั้งนั้นเพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในอนาคต ซึ่งผมมองว่าการศึกษาในอนาคตเป็นเรื่องของความร่วมมือ ใครเก่งด้านไหนก็มาจับมือกัน ไม่ใช่การศึกษาแบบ stand alone อีกต่อไป”

ถึงตรงนี้ “ดร.อรรถเวทย์” จึงขยายความต่อว่าอย่างตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV เราก็ไปเมื่อ 2 ปีผ่านมา เพื่อแนะนำตัวให้เขารู้จักเรามากขึ้น หรือแม้แต่เมืองจีนเราก็เคยไปร่วมงานคอนเฟอเรนซ์ ได้มีโอกาสไปเจอเอเย่นต์บางคนเขาบอกเราว่าทำไมดุสิตธานีไม่มา เพราะที่เมืองจีนเรามีโรงแรมค่อนข้างเยอะ

“ผมจึงมานั่งคิดว่าผ่านมาเราอาจเป็นเหมือนเบญจรงค์ที่อยู่ในตู้ ไม่ค่อยออกมาโชว์ให้ใครเห็น แต่ต่อไปเราจะออกไปโรดโชว์มากขึ้น เพราะเราเชื่อว่าวิทยาลัยดุสิตธานีมีของดีอยู่มากมาย และไม่เฉพาะการศึกษาในระดับปริญญาตรี, ปริญญาโท หรือหลักสูตรนานาชาติเท่านั้น หากเรายังมีหลักสูตรปริญญาตรีเทียบโอนประสบการณ์, หลักสูตร short course อีกมากมายที่เราต้องการแบ่งปันความรู้ในเรื่องของประกอบอาหาร, การจัดการโรงแรมอย่างมืออาชีพเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสในวิชาชีพบริการ”

ทั้งนั้นเพราะเราเชื่อว่าการเรียนการสอนในอนาคตข้างหน้า ไม่ได้อยู่เฉพาะแค่ในห้องเรียนอีกต่อไปแล้ว แต่จะมีอยู่ในทุก ๆ แห่งที่โลกแห่งการสื่อสารไร้พรมแดนไปถึง ซึ่งเหมือนกับวิทยาลัยดุสิตธานีที่เชื่อว่า “next step”

ต่อจากนี้ไปเราจะนำเครื่องมือทางนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการการเรียนการสอนมากขึ้น ทั้งยังจะพยายามทำให้นักศึกษาของเรามีประสบการณ์ตรงจากการเรียนในลักษณะของตัว “T” มากขึ้น

“ผมเชื่อเช่นนั้นนะ”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!