กล้า MICE ปั้น น.ศ.ไทย ผ่านโมเดลธุรกิจอิมแพ็ค

ธุรกิจไมซ์ (MICE-Meeting, Incentive, Travel, Conventions, Exhibitions) หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมระดับนานาชาติ เป็นธุรกิจที่ทำเงินให้กับประเทศไทยสูง โดยในปีนี้คาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศกว่า 221,000 ล้านบาท (จากผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือทีเส็บ)

การที่ธุรกิจด้านนี้จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จะต้องมีบุคลากรที่มีคุณภาพ

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยตอนนี้คือขาดบุคลากรสายไมซ์ ดังนั้น ในฐานะที่ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นองค์กรแถวหน้าของไทยในด้านไมซ์ และเห็นถึงความสำคัญของการป้อนคนเข้าสู่ธุรกิจนี้ จึงหาทางแก้ปัญหาโดยเริ่มที่การศึกษาก่อน เพราะเยาวชนไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจธุรกิจไมซ์ หลายคนจึงไม่เลือกเรียน ส่วนบางคนที่เลือกเรียนแล้วจบออกมา กลับไม่ชอบรูปแบบงานจริง ทำให้ธุรกิจสายนี้มีอัตราการลาออกของคนสูง

อิมแพ็คจึงจัดทำโครงการ “กล้า MICE” เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้จากงานจริง สถานที่จริง และสามารถสัมผัสกับภาพรวมของธุรกิจนี้อย่างลึกซึ้ง

“ทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล” ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า มหาวิทยาลัยในประเทศไทยยังไม่กล้าเปิดคณะที่เกี่ยวกับธุรกิจไมซ์โดยเฉพาะ โดยส่วนใหญ่เลือกทำเป็นสาขา หรือรายวิชา เนื่องจากกลัวไม่มีคนมาเรียน ทำให้นักศึกษาไม่มีความเข้าใจเรื่องไมซ์อย่างเต็มที่ และมองภาพไม่ออก

“เราจึงเริ่มนำร่องกับคณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการจัดงานนิทรรศการ และงานอีเวนต์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะปีที่แล้ว เรามีทำ MOU กับ ม.ศิลปากร ในการให้นักศึกษามาฝึกงานอยู่แล้ว โดยหลักสูตรของสาขานี้ นักศึกษาจะต้องฝึกงานตั้งแต่ชั้นปีที่ 2และฝึกอีกครั้งตอนปี 4 รวมทั้งหมด 800 ชั่วโมง จากปีแรกที่เราให้นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มาฝึกงานที่อิมแพ็ค ตามแผนกต่าง ๆ ทำให้เราเห็นว่าพวกเขายังไม่พร้อมในการทำงาน ทีมฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงร่วมกันคิดหาทางออก แล้วสรุปออกมาเป็นโครงการกล้า MICE”

“เพียงแต่ช่วงเริ่มต้น เรายังไม่สามารถรองรับน้อง ๆ ในสาขาได้ทุกคน เราจึงจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อคัดเลือกมาเข้าโครงการที่อิมแพ็ค เป็นระยะเวลา 2 เดือน 300 ชั่วโมง โดยเราไปหาน้อง ๆ ที่มหาวิทยาลัย โดยให้โจทย์กับน้อง ๆ ทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิด และแก้ไขปัญหา เราคอยสังเกตคนที่มีทักษะความเป็นผู้นำ การสื่อสาร และความคิดสร้างสรรค์และคัดเลือกให้เหลือ 40 คน”

“ช่วงแรกของโครงการคือการทำให้น้อง ๆ รู้จักอิมแพ็ค และธุรกิจไมซ์ หลังจากการเรียนรู้ภาพรวมของธุรกิจ เราแบ่งเป็นเรียนรู้เกี่ยวกับฝ่ายงานต่าง ๆ โดยมีพนักงานของเราแต่ละฝ่ายมาพูดคุยบอกลักษณะงาน และมีเวิร์กช็อปให้น้อง ลงมือทำ จากนั้นเราจะให้น้อง ๆ เลือก 2 แผนกในการฝึกงาน แผนกละ 2 สัปดาห์ ตรงนี้เป็นจุดแรกที่เราเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวน้อง ๆ อย่างเห็นได้ชัด”

“โดยน้อง ๆ จะมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจไมซ์ที่กว้างขึ้น ต่างจากช่วงแรกที่น้อง ๆ จะเข้าใจว่าธุรกิจไมซ์เกี่ยวกับงานปฏิบัติการ จัดนิทรรศการ และจัดอาหารเครื่องดื่มเท่านั้น พอหลังจากเรียนรู้แล้ว พวกเขาเริ่มเห็นว่าการเรียนเกี่ยวกับไมซ์ สามารถทำงานด้านการขาย สื่อสารองค์กร หรือแม้แต่เอชอาร์ได้ด้วย และในตอนท้ายของโครงการ เราให้น้อง ๆ จัดนิทรรศการร่วมกันทั้ง 40 คน ซึ่งตอนจบโครงการเราจะมีการคัดเลือกเด็กที่จะได้กลับมาฝึกงานกับเราอีกตอนพวกเขาอยู่ปี 4 จำนวน 10 คน”

“ทมิตา” อธิบายต่อว่า ด้วยความสำเร็จของโครงการในปีนี้ ทำให้หลายมหาวิทยาลัยสนใจส่งนักศึกษามาเรียนรู้ในโครงการ เราจึงวางแผนที่จะเริ่มทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยอีก 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเพิ่มจำนวนนักศึกษาเป็น 60-80 คน และภายในระยะเวลา 5 ปี จะเพิ่มจำนวนนักศึกษาที่เข้ามาฝึกงานไม่ต่ำกว่า 300 คน นอกจากนี้ เราอยากที่จะร่วมมือกับทางทีเส็บในการสนับสนุนวิทยากรที่เชี่ยวชาญในสายงานมาแชร์ประสบการณ์ให้น้อง ๆ ฟังด้วย

“ที่สำคัญ เราจะพัฒนาให้เป็นสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ MICE Academy เพราะเรามีความพร้อมทั้งทางด้านองค์ความรู้ สถานที่ และบุคลากร ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอกับทางผู้ใหญ่ของอิมแพ็ค และเราจะพยายามทำให้สำเร็จภายในปี 2568 เพราะเราต้องการกระตุ้นการศึกษาด้านไมซ์ และอยากให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนการศึกษาสายงานไมซ์มากขึ้นด้วย เพราะเป็นงานที่ทำเงินให้ประเทศได้สูง”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

“ณภัสกรณ์ โพธิ์ทอง” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการจัดงานนิทรรศการ และงานอีเวนต์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าว่า สนใจโครงการกล้า MICE เพราะอิมแพ็คเป็นหนึ่งในผู้นำด้านตลาดไมซ์ในประเทศไทยที่ได้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมนี้มากว่า 20 ปี

“มองว่าโครงการนี้ได้หลายส่วน ไม่ใช่เพียงเรื่องขององค์ความรู้ แต่ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นว่าชอบอะไร และถ้ารู้สึกว่าไม่ใช่งานที่เราชอบทำจะได้ปรับตัวทัน แต่จากการได้มาเรียนรู้ที่อิมแพ็ค ทำให้รู้ว่าตนเองชอบงานด้านการขายที่เกี่ยวกับธุรกิจไมซ์ โดยตอนแรกเลือกฝึกด้านอาหาร และเครื่องดื่ม 2 สัปดาห์ ก็สนุกเพราะได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาหน้างาน และปัญหาเฉพาะหน้าเยอะมาก”

“ส่วนงานขายเรารู้สึกว่าเป็นหน้าเป็นตาของบริษัท ได้เรียนรู้ถึงเรื่องธุรกิจของอิมแพ็คลึกขึ้นอีก รู้จักวิธีการสื่อสาร และพูดโน้มน้าวใจลูกค้า ซึ่งพี่ ๆ ที่อิมแพ็คได้ให้โอกาสเราไปพูดคุยกับลูกค้าจริง ๆ และหลังจากจบโครงการนี้จะนำความรู้ที่ได้ไปแชร์กับเพื่อน ๆ ที่มหาวิทยาลัยที่ไม่ได้มีโอกาสมาร่วมด้วย”

นับว่าโครงการกล้า MICE ช่วยเสริมสร้าง และเร่งพัฒนาให้ทรัพยากรไมซ์มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เหมาะสำหรับการทำงานในอุตสาหกรรม พร้อมทั้งยังช่วยผลักดันหนุนรายได้เข้าประเทศไทย