“จุฬาฯ” เมินขยายวิทยาเขต ปั้นศูนย์เรียนรู้ฝึก นศ.-ดูแลสังคม

ภายหลังจากการออกนอกระบบของสถาบันในระดับอุดมศึกษา จะเห็นภาพของการขยายวิทยาเขตเพื่อรองรับนักศึกษาในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ แต่สำหรับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ไม่มีนโยบายขยายวิทยาเขต แต่เลือกที่พัฒนาในรูปแบบของศูนย์การเรียนรู้เพื่อภูมิภาค นอกจากเข้ามาช่วยเหลือชุมชนแล้ว ยังใช้เป็นสถานที่การเรียนการสอนภาคปฏิบัติของนิสิตจุฬาฯ อีกด้วย อย่างเช่น ในพื้นที่จังหวัดน่าน ที่ประกอบด้วย สถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีผาสิงห์ ตำบลผาสิงห์ ที่มีความโดดเด่นด้านการเลี้ยงแพะเนื้อและแพะนม และสถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีไหล่น่าน อำเภอเวียงสาที่มีงานวิจัยและการพัฒนากล้าไม้ยาง และการเลี้ยงโคแดงพื้นเมืองน่าน รวมไปถึงการเลี้ยงกบนาแบบอินทรีย์ ที่ประสบความสำเร็จและยังวิจัยและพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงภารกิจที่เกี่ยวข้องกับสังคม เศรษฐกิจ และการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น หรือการพัฒนาจังหวัดน่านให้ครบทุกมิติ

“ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ” ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ศูนย์การเรียนรู้ฯในจังหวัดน่านถือเป็นการขยายบทบาทของจุฬาฯไปยังภูมิภาคและทำให้ชุมชนที่ต้องการความรู้ และต้องการความช่วยเหลือสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาศูนย์การเรียนรู้ฯได้ลงพื้นที่เพื่อให้เห็นปัญหาที่แท้จริงแล้วหาวิธีดำเนินการแก้ไข จนได้รับการ “ยอมรับ” จากชุมชนในพื้นที่เป็นอย่างดี และในปีนี้ศูนย์การเรียนรู้ฯและสถานีวิจัยฯจะดำเนินการวิจัยและพัฒนาโดยยึดทิศทางนโยบายของผู้บริหารนั่นคือ การสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะที่เป็น “นวัตกรรมทางสังคม” (social engagement) หรือการมีส่วนร่วมทางสังคม คือ

1) การป้องกันโรคหนอนกอข้าวที่เข้ามากินต้นข้าวเกษตรกรในพื้นที่ได้รับความเสียหาย โดยใช้ความรู้จากภาควิชาชีววิทยา และความรู้จากศูนย์วิจัยด้านแมลง และจะใช้แนวทางของชีววิถีเข้ามาแก้ปัญหา ด้วยการปลูกพืชผสมผสานในแปลงนา เพื่อสร้างระบบนิเวศให้สมบูรณ์และให้ธรรมชาติจัดการกันเอง และลดการใช้สารเคมีz2) เพิ่มผืนป่าให้จังหวัดน่าน ที่ต้องใช้พันธมิตรเข้ามาร่วมกัน เพราะการปลูกป่า

ถือเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากจังหวัดน่านถือเป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำน่าน และคิดเป็นร้อยละ 45 ที่ไหลรวมในแม่น้ำเจ้าพระยา หากเกิดปัญหาแผ้วถางป่าไปเรื่อย ๆ ก็จะส่งผลกระทบกันเป็นลูกโซ่ และเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมต้องร่วมมือกัน อย่างเช่น โครงการรักษ์น่าน สานสร้างป่า ปีที่ 2 ที่เริ่มดำเนินการแล้ว ในการปลูกป่าเพิ่มยังได้นำนวัตกรรมที่เรียกว่า “พอลิเมอร์ชีวภาพ” ที่สามารถกักเก็บความชื้นไว้ให้ต้นไม้ช่วงที่ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งได้อีกด้วย

3) พัฒนาและวิจัยพันธุ์แพะ โดยโจทย์คือ ฤดูกาลใดที่แพะให้ปริมาณน้ำนมได้ดีที่สุด เนื่องจากพื้นฐานของจังหวัดน่าน มีชนเผ่าอยู่เป็นจำนวนมากที่ต้องการเลี้ยงแพะเป็นอาชีพ ทั้งส่วนที่เป็นแพะเนื้อและแพะนม เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในพื้นที่

และ 4) การพัฒนาสินค้าท้องถิ่นด้วยการ “สร้าง story” ให้กับสินค้า อย่างเช่น น้ำผึ้งป่า และกาแฟ เพื่อเพิ่มคุณค่าและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยโจทย์สำคัญคือ ผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพและซื้อโดยไม่ขอลดราคา

ทั้งนี้ ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ให้ข้อมูลอีกว่า โจทย์ของพื้นที่ต่างกันคือ ต้องการเปลี่ยนวัตถุอะไรก็ตามให้เป็น “เงิน” ในกระเป๋า ขอยกตัวอย่างเช่น “ฟาร์มบุญสนอง” ที่เลี้ยงแพะจนกระทั่งมีพ่อค้ามาขอซื้อเพื่อส่งออกไปประเทศเวียดนาม โดยมีการการันตีราคา และขอซื้อทั้งหมด ราคาโดยเฉลี่ยที่ 2,500 บาท/ตัว โดยใช้เวลาเลี้ยงแค่ 3 เดือนก็ขายได้แล้ว

“แต่ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถคอนโทรลตลาดได้ ตอนนี้มีการรับซื้อแพะอยู่ที่กว่า 100 ตัว/วัน ในพื้นที่ ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากโรคที่ระบาดในสุกร ฟาร์มที่เวียดนามรับแพะได้ทั้งหมด ชุมชนก็มีอาชีพ มีรายได้ อยากให้ทุกงานยั่งยืน จึงต้องรู้ว่าชุมชนต้องการอะไร และเรานำองค์ความรู้มา และต้องถามชุมชนว่า ต้องการโครงการหรือไม่ ประโยชน์ที่จะได้เป็นอย่างไร ถ้าเห็นตรงกันก็ถือว่าโปรเจ็กต์ประสบความสำเร็จแล้ว”

ภายใต้โครงการรักษ์น่าน สานสร้างป่าผศ.ดร.วิเชฏฐ์บอกอีกว่า มีการจัดตั้ง “รูปแบบคณะอนุกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์” เพราะมีคำถามจากชุมชนในพื้นที่ว่า หากไม่ให้บุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรแล้วจะให้ทำอะไร ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ และวางแผนดำเนินการไว้ว่า กำลังตั้งต้นที่จะแจกพันธุ์สัตว์เป็นกลุ่ม ซึ่งเมื่อชุมชนพัฒนาต่อเองได้แล้วก็ต้องส่งพันธุ์สัตว์ไปให้เกษตรกรรายอื่นต่อไป ตรงตามรูปแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ศูนย์การเรียนรู้ฯต้องการให้เกิดขึ้นอีกด้วย

เมื่อให้มองถึงอนาคตของศูนย์การเรียนรู้ฯในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น “ผศ.ดร.วิเชฏฐ์” บอกว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการ “คิดใหม่” และขยายผลจากสิ่งเดิมที่มีอยู่ให้พัฒนาขึ้นไปอีก

และต่อจากนี้คีย์เวิร์ดสำคัญคือ เรื่องศิลปวัฒนธรรม และยังวางเป้าหมายว่าในปี 2561-2562 จะได้เห็นภาพการค้าชายแดนจะมีบทบาทมากขึ้น รวมถึงต้องการผลักดันให้น่านเป็นศูนย์กลาง หรือ hub เพื่อส่งสินค้าออกไปยังประเทศจีนและเวียดนามด้วย