“SBS” เผยงานวิจัย เริ่มป้อนไบลิงกวล 2 ขวบ

ในโลกยุคใหม่จำเป็นต้องสามารถสื่อสารได้อย่างน้อย 2 ภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต (Satit Bilingual School of Rangsit University-SBS) เป็นโรงเรียนแห่งแรกในเมืองไทยในเครือสาธิตที่จัดหลักสูตรการเรียนการสอนแบบทวิภาษาแบบองค์รวม หรือ unified bilingual curriculum เพราะเล็งเห็นว่าภาษาอังกฤษกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่จำเป็นต้องเรียนรู้

ที่สำคัญคือยิ่งให้เริ่มเรียนได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพื่อให้เป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตอย่างมีคุณภาพและมีความสามารถทางด้านภาษาที่ดี ที่สามารถแข่งขันกับเด็กต่างชาติได้

“ดร.อภิระมณ อุไรรัตน์” ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรังสิต ได้ตอกย้ำถึงประโยชน์ของการมีทักษะ 2 ภาษาว่า การที่เด็กมีทักษะการใช้ภาษาที่สองได้นั้นจะส่งผลให้เด็กสามารถเพิ่มทักษะด้านอื่นให้ดีขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น 1) การปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ (adaptable)

2) มีทั้ง IQ และ EQ ที่สูงกว่าเด็กที่พูดได้ภาษาเดียว 3) เข้าใจคนจากหลากหลายวัฒนธรรม เชื้อชาติ และภาษา ซึ่งสอดคล้องกับยุคแห่งโลกาภิวัตน์ (multicultural) 4) มีทักษะการสื่อสารที่ดี (communication skills) 5) สามารถแก้ปัญหาได้ดี (complex problem solving skills) และ 6) มีความสุข (happy learners)

“งานวิจัยของ Ronald Kotulak ในปี 1997 เรื่อง Inside the Brain ได้บอกไว้อย่างชัดเจนว่า การเรียนรู้ภาษาที่สองควรเริ่มต้นเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และควรเริ่มตั้งแต่เกิดด้วยซ้ำ เนื่องจากเด็กแรกเกิดจะมีการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า จุดเชื่อมโยงของประสาท (synaptic connection) ด้วยความเร็วถึง 3,000 ล้านจุดต่อวินาที ซึ่งสมองจะดูดซับทุกอย่างที่ทารกได้ยิน ได้เห็น รู้สึก รับรส สัมผัส และจะบรรจุสิ่งเหล่านั้นไว้ภายในสมองส่วนของความจำซึ่งสมองของเด็กเล็กมีสภาพคล้ายฟองน้ำ ซึ่งทำให้การเรียนรู้ภาษาพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรมชาติโดยปราศจากอุปสรรคใด ๆ เมื่อทารกอายุได้ 6-8 เดือน สมองของทารกจะมีจุดเชื่อมโยงของประสาทเพิ่มขึ้นถึง 1,000 ล้านล้านจุด และจะลดจำนวนลงเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น และเมื่อเด็กอายุได้ 10 ขวบ จุดเชื่อมประสาทดังกล่าวจะหายไปถึงครึ่งหนึ่ง”

จะเห็นว่าเด็กที่เรียนรู้ภาษาที่สองนั้น เมื่ออายุมากขึ้นที่ประมาณ 8-9 ขวบ จะไม่สามารถเรียนรู้ภาษาได้เป็นภาษาแม่ ยกตัวอย่าง ผลงานของนักวิจัยอย่างชาเพลตัน ในปี 2016 ได้กล่าวว่า เด็กเล็กไม่เพียงแต่สามารถแยกแยะความแตกต่างของเสียงในภาษาต่าง ๆ ได้เท่านั้น แต่ยังสามารถออกเสียงที่มีลักษณะเฉพาะของภาษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษและภาษาจีนได้อีกด้วย เนื่องจากเด็กเล็กจะสามารถซึมซับคำและเสียงของภาษาได้อย่างรวดเร็ว

“พ่อและแม่สามารถทดสอบการเป็นเด็ก 2 ภาษาของลูกได้โดย วิธีการสังเกตว่าลูกมักไม่มีความเครียดหรือความกังวลเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งใหม่ ๆ เช่น การไปศูนย์การค้า ไปเยี่ยมญาติ หรือการเดินทางไปพบกับสิ่งแปลกใหม่ พ่อแม่จึงควรเริ่มสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นสองภาษาให้ลูกตั้งแต่เล็ก และส่งเสริมการเรียนที่สอนทั้ง 2 ภาษาตั้งแต่ 2 ขวบเป็นต้นไป”

“ดร.อภิระมณ” กล่าวด้วยว่า แม้ว่าโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต จะเป็นโรงเรียน 2 ภาษา แต่ก็ยังปลูกฝังไว้ซึ่งวัฒนธรรมแบบไทยที่มีลักษณะเฉพาะ

ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะสร้างเด็กให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่นั่นก็คือการผสมผสานทั้งความเป็นไทยและความเป็นสากลเข้าไว้ด้วยกันรวมถึงความรู้ด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และภาษาต่างประเทศอื่น ๆ อีกด้วย