“ปัญญาภิวัฒน์” เปิดวิทยาเขต EEC ปั้นบัณฑิตรองรับกลุ่ม S-Curve

ต้องยอมรับว่า สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งที่ชูจุดขายในเรื่องของ “worked-based learning” มาก่อนสถาบันอื่น ๆ และถึงตอนนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “การเรียนรู้จากการทำงาน” กลับเป็นเทรนด์สำคัญที่สถาบันการศึกษาหลายแห่งนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน

เพราะสามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ได้จริงกับนักเรียน นิสิต และนักศึกษา จนทำให้พวกเขาไม่เพียงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน หากยังทำให้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์จริงจากเพื่อนร่วมงานในสาขาต่าง ๆ อีกด้วย

จนกระทั่งรัฐบาลภายใต้แกนนำของ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ผลักดันนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (S-curve) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)ในจังหวัดฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง

ทางสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์จึงมองเห็นโอกาสทางธุรกิจการศึกษา ด้วยการจัดตั้งสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ วิทยาเขต EEC (PIM EEC) ขึ้นบริเวณเมืองพัทยา บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ โดยจะแบ่งเป็นพื้นที่นำร่องสำหรับก่อสร้างสถาบัน และหอพักนักศึกษาก่อนประมาณ 20 ไร่ ด้วยงบประมาณทั้งหมด 1,200 ล้านบาท

“ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหารสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า หลัก ๆ เรามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ ตามนโยบาย Thailand 4.0 โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และในกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve ทั้งหมด เพียงแต่เรามาโฟกัสในสิ่งที่เราถนัดและต้องการ คือ การผลิตบุคลากรทางด้านการบริหารจัดการสำหรับธุรกิจเกี่ยวกับระบบราง เพื่อเตรียมบุคลากรมืออาชีพให้มีความพร้อมต่อการทำงานในยุคดิจิทัล

“ที่สำคัญ เราพยายามสร้างพื้นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับการสร้างคนแห่งอนาคต และด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เราเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีขึ้นในพื้นที่ EEC ทั้งหมด 2 คณะ จำนวน 3 หลักสูตรในเบื้องต้น ได้แก่ คณะนวัตกรรมและเทคโนโลยี จำนวน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอัตโนมัติ โดยหลักสูตรนี้จะเน้นการเรียนการสอนเรื่องการออกแบบ และติดตั้งระบบอัตโนมัติ, ระบบเทคโนโลยีรถไฟ, ระบบเทคโนโลยีค้าปลีก สำหรับภาคอุตสาหกรรม และการบริการสมัยใหม่โดยเฉพาะ”

“ส่วนหลักสูตรถัดมา คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เรียนรู้เรื่อง IOT, big data, machine learning และ AI ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติจริง โดยมีเนื้อหาครอบคลุมเทคโนโลยีดิจิทัลด้านปัญญาประดิษฐ์ และความมั่นคงของระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้ง 2 หลักสูตรมีการออกแบบห้องปฏิบัติการในการนำเครื่องมือ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้จริงในสถานประกอบการ มาปรับใช้กับการเรียนการสอนด้วย”

“ไม่ว่าจะเป็นระบบเทคโนโลยีควบคุมอัตโนมัติสำหรับระบบแคมปัสอัจฉริยะ และระบบฟาร์มอัจฉริยะ เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติงานจริง ที่สำคัญ ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม และสถานประกอบการภาคบริการทั่วประเทศ เนื่องจากเรามีสถานที่ฝึกงานของเราเอง อาทิ 7-11 และรีเทลลิงค์ ที่จะช่วยให้นักศึกษานำความรู้ไปเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานจริงได้ นอกจากนั้น เรายังมีโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งที่เราเซ็นเอ็มโอยูร่วมกันเพื่อส่งนักศึกษาไปฝึกงานทางด้านระบบออโตเมชั่นต่าง ๆ”

“ก่อศักดิ์” กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เรายังเปิดคณะนวัตกรรมการจัดการ ในชื่อหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจดิจิทัล เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักศึกษา เพราะหลักสูตรนี้น่าจะเป็นอีกสาขาวิชาชีพหนึ่งที่เป็นความต้องการของตลาด โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และต่อไปในอนาคตเราอาจเปิดปริญญาโท หลักสูตรดาต้า อะนาไลติกขึ้นมาอีก

“เพียงแต่ตอนนี้เราแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 เฟส โดยเฟสที่ 1 สำหรับเรื่องการก่อสร้างสถาบัน และหอพักนักศึกษา จะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤษภาคม หรือกรกฎาคม 2563 เพื่อรองรับนักศึกษาประมาณ 700 คน ในปีการศึกษา 2563 จากนั้นเราจะทำเฟสที่ 2-3-4 ไล่ไปเรื่อย ๆ จนถึงปี 2566 ถึงตอนนั้นเราจะมีนักศึกษาประมาณ 10,000 คน โดยกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะมาเรียนที่ PIM EEC คือ นักเรียนจากภาคตะวันออกเป็นหลัก นอกนั้นก็จะมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล”

“สำหรับค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 4 ปี เราคิดเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 แสนบาท ส่วนค่าหอพักจะอยู่ที่ห้องละประมาณ 6-8 พันบาท/2 คน และตอนนี้เริ่มประชาสัมพันธ์ให้ทราบบ้างแล้ว ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี เพราะอย่างที่ทราบในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกEEC ถือเป็นโอกาสใหม่ของคนทำงานแห่งอนาคต เพราะจากข้อมูลที่ทราบจากภาครัฐในระหว่างปี 2562-2566 มีความต้องการจ้างงานใหม่ประมาณ 475,668 อัตรา ในทุกกลุ่มธุรกิจ”

“ยิ่งเมื่อลงรายละเอียดจะพบว่า แต่ละกลุ่มธุรกิจใหม่ อาทิ กลุ่มงานด้านดิจิทัล มีความต้องการจ้างงานสัดส่วนสูงที่สุดถึง 24% คิดเป็น 116,222 อัตรา, ด้านโลจิสติกส์ 23% คิดเป็น 109,910 อัตรา, ด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 12% คิดเป็น 58,228 อัตรา, ด้านยานยนต์แห่งอนาคต 11% คิดเป็น53,738 อัตรา, ด้านหุ่นยนต์ 8% คิดเป็น37,526 อัตรา, ด้านการบิน-อากาศยาน 7% คิดเป็น 32,836 อัตรา, การขนส่งระบบราง 5% คิดเป็น 24,246 อัตรา, การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4% คิดเป็น 16,920 อัตรา, การพาณิชย์นาวี 3% คิดเป็น 14,630 อัตรา และการแพทย์ครบวงจร 2% คิดเป็น 11,412 อัตรา”

ทั้งนั้นเมื่อดูจากข้อมูล และแนวทางการเรียนการสอนทุก ๆ หลักสูตรของ PIM EEC จึงทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่า นักศึกษาที่ถูกผลิตจนกลายเป็นบัณฑิต “worked-based learning” น่าจะเนื้อหอมสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ EEC อยู่ไม่น้อยทีเดียว