100 มหา’ลัยเฮ รัฐแจก2,000บาท อบรมฟื้นทักษะป้อนตลาดวัยทำงาน

“อว.” กระตุ้นตลาดการศึกษานำร่องแจกคูปอง 2,000 บาท เป็นส่วนลดค่าเรียนเพิ่มทักษะ เผย 100 มหา’ลัยทั่วประเทศขานรับ ปรับแผนปั้นคอร์สอบรมป้อนตลาดวัยทำงาน 38 ล้านคน ดึงเอกชนร่วมเพิ่มทักษะคนทำงานค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2.5 เท่าของรายได้

แจก 2 พันส่วนลดค่าเรียน

วิกฤตการศึกษาในช่วงที่ผ่านมาเผชิญกับปัญหาที่หลากหลาย ตั้งแต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจ จำนวนนักศึกษาลดลงทั้งระบบ รวมถึงการพัฒนาของเทคโนโลยี (disruption) ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และในขณะนี้กำลังมีปัจจัยการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จนสร้างผลกระทบถึง 4 เด้งให้กับภาคการศึกษา ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ อว. จึงตั้งโจทย์ว่าต้องพลิก “วิกฤตเป็นโอกาส” ด้วยการกระตุ้นภาคการศึกษาให้เปลี่ยนโฟกัสใหม่มาที่ตลาดวัยทำงาน ด้วยการเปิดหลักสูตรระยะสั้น เพื่อพัฒนาทักษะคนทำงานที่ประโยชน์ทั้งการสร้างคนทำรองรับความต้องการของประเทศ พร้อม ๆ กับการแก้ปัญหาให้ธุรกิจการศึกษา

นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานกรรมการบริหารส่งเสริมและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะขั้นสูงตามความต้องการของประเทศ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลังจากการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนจากมหาวิทยาลัยกว่า 100 แห่งเพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นภาคการศึกษาให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤตดังกล่าวด้วยการให้มหาวิทยาลัยพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น เพื่อพัฒนาทักษะการทำงาน (reskill-upskill) ในรูปแบบ nondegree ซึ่งเป็นตลาดที่มีกว่า 38 ล้านคน มากกว่าตลาดเดิมในระดับปริญญาตรีถึง 20 เท่า ที่มีเพียง 3-4 ล้านคนรวมกับ 2 มาตรการ “นำร่อง” เพื่อกระตุ้นตลาดการศึกษา คือ

1) ส่วนของประชาชนทั่วไป จะใช้วิธีแจกคูปองการศึกษามูลค่า 2,000 บาท จำนวน 10,000 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 22 ปีขึ้นไป เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนลดค่าเรียนในหลักสูตรที่มีความสนใจ ซึ่งได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้ว 12 ล้านบาท และคาดว่าจะแจกคูปองได้ในวันที่ 16 มี.ค. 2563 นี้ ภายในงาน “Future Career Expo 2020” (หากไม่เปลี่ยนแปลงกำหนดการ) โดยกำหนดสัดส่วนการแจกคูปองในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลอยู่ที่ 30% และในพื้นที่ต่างจังหวัด 70%

และ 2) ส่วนของภาคเอกชนที่มีการลงทุนเพื่อพัฒนาคนทำงาน สามารถนำค่าใช้จ่ายมาขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 1.5-2.5 เท่าของค่าใช้จ่าย แบ่งเป็นจ้างงานบุคลากรทักษะสูง สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิศวกรรม ยกเว้นภาษีได้ 1.5 เท่าของค่าใช้จ่าย และสำหรับองค์กรที่ส่งพนักงานเข้าอบรมในหลักสูตรยกเว้นภาษีได้ 2.5 เท่าของค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

“ในกรณีที่แจกคูปองนำร่องแล้ว อว.ยังต้องเก็บข้อมูล และศึกษาถึงความเหมาะสมว่าควรแจกอย่างต่อเนื่องหรือไม่เพราะมองว่าการศึกษาคือรากฐานสำคัญที่จะสร้างคนเพื่อออกไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และพัฒนาการศึกษาของไทยให้ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงคือเรียนเพื่อออกไปทำงานได้จริง คาดว่าจะมีกว่า 500 หลักสูตรจากกว่า 100 มหาวิทยาลัยเข้าร่วม”

โชว์หลักสูตรมาตรฐานโลก

นายสัมพันธ์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับหลักสูตรระยะสั้นของแต่ละมหาวิทยาลัยตามที่ อว.ต้องการ คือ เพื่อพัฒนาคนทำงานให้มีทักษะที่เป็นทั้ง hard skill และ soft skill ในแต่ละหลักสูตร จะต้องเน้นย้ำไปที่ “การสร้างทักษะ” ยกระดับความสามารถของคน เป็นการวางรากฐานอนาคตของประเทศ นอกจากนี้ ในการพัฒนาบางหลักสูตร แต่มหาวิทยาลัยยังไม่มีความพร้อมนั้น อว.ได้กำหนดให้สร้างความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัย หรือผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรในเชิงลึกด้วย

นอกจากนี้ อว.ยังต้องสร้างมาตรฐานให้กับหลักสูตรระยะสั้นคู่ขนานตามกันไปด้วย โดยได้ร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ TPQI (Thailand Professional Qualification) เนื่องจาก อว.ต้องการให้หลักสูตรระยะสั้นได้รับมาตรฐานจากองค์กรในประเทศเท่านั้น แต่ต้องการให้ได้มาตรฐานโลกด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับการกำหนดราคาหลักสูตรนั้น อว.ให้แต่ละมหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณา เนื่องจากต้นทุนของแต่ละมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างกัน อีกทั้งตลาดการศึกษาเป็นตลาดเสรีที่ต้องมีการแข่งขันกันเป็นเรื่องปกติ หากกำหนดค่าเรียนไว้สูงจนเกินไป ความสนใจเลือกเรียนอาจน้อยลงตามไปด้วย และหากมหาวิทยาลัยใดไม่มีการปรับตัว คาดว่าในปีนี้อาจจะได้เห็นภาพมหาวิทยาลัยปิดตัวและเข้าซื้อกิจการเหมือนกับที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

EEC ต้องการคนทำงาน 5 แสนคน

ส่วนหนึ่งของการยกระดับคนทำงานเพื่อป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยนายสัมพันธ์ระบุว่า มีการสำรวจแล้วพบว่าในอีก 5 ปีต่อจากนี้ จะมีความต้องการคนทำงานสูงถึง 475,000 คน ที่ครอบคลุมทุกระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับอาชีวศึกษาจนถึงระดับปริญญาเอกแบ่งเป็นความต้องการแรงงานระดับอาชีวศึกษา 253,000 คน ระดับปริญญาตรี 212,000 คน ระดับปริญญาโท-เอก 8,600 คน นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งงานใหม่ที่นอกเหนือจากความต้องการในพื้นที่ EEC อีก สรุปภาพรวมยังมีตำแหน่งงานว่างในระบบถึง 5 แสนตำแหน่ง