ปัญหาเด็กจมน้ำตาย ประเทศไทยพยายามป้องกันมากแค่ไหน?

ปัญหาเด็กจมน้ำตาย ประเทศไทยพยายามแก้ปัญหามากน้อยแค่ไหน?
ภาพจาก Pete Linforth from Pixabay

การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เมื่อมีข่าวเด็กจมน้ำเสียชีวิตแต่ละครั้ง นอกจากความเศร้าสลดใจ ยังทำให้เกิดคำถามในสังคมว่า ประเทศไทยได้พยายามป้องกันและเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหานี้มากน้อยแค่ไหน? 

วันที่ 18 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นักเรียนชายอายุ 15 ปี ชั้น ม.3 โรงเรียนบ้านนาค้อวิทยาคม จ.กาฬสินธุ์ จมน้ำเสียชีวิตบริเวณหนองน้ำ บริเวณใกล้กับโรงเรียน ระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งแม่ของผู้ตายเปิดเผยภายหลังว่า ลูกชายว่ายน้ำไม่เป็น อีกทั้งยังไม่มีการเตรียมความพร้อมเรื่องอุปกรณ์การให้ความช่วยเหลือ ตามการรายงานของมติชน

ข่าวนี้นอกจากจะสร้างความเศร้าสลดและความกังวลให้กับบรรดาผู้ปกครองแล้ว ยังทำให้เกิดคำถามสำคัญว่าเราจะสามารถป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร?

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมสถิติเด็กจมน้ำเสียชีวิต รวมถึงนโยบายเพื่อแก้ปัญหา ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังนี้

“จมน้ำ” มัจจุราชคร่าชีวิตเด็ก

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2563 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ข้อมูลจากมรณบัตรในปี 2562 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำสูงถึง 3,306 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 559 ราย ส่วนข้อมูลจากคลังข้อมูลสุขภาพ (Health Data Center) ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–30 กันยายน 2563 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ประสบเหตุจมน้ำมากถึง 692 ราย (การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี)

อีกทั้งยังพบว่าในช่วงสัปดาห์ ระหว่าง 12-18 ตุลาคม 2563 มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำรวม 7 ราย จากจังหวัดเชียงใหม่ 3 ราย, สระแก้ว 2 ราย, สตูล 1 ราย และลำปาง 1 ราย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการพลัดตกน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็น ขาดทักษะการเอาชีวิตรอดและการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ขาดการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยง เป็นต้น

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ดังกล่าว คาดว่าในช่วงเวลานั้นมีโอกาสจะพบอุบัติเหตุจากการจมน้ำได้ เนื่องจากประเทศไทยยังมีฝนตกต่อเนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุม ส่งผลให้กระแสน้ำพัดแรงขึ้นและอาจมีน้ำท่วมในหลายจังหวัด ซึ่งฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องและมีน้ำท่วมขังหรือไหลเชี่ยว อาจทำให้สภาพพื้นดินเปลี่ยนไปจากเดิม รวมถึงขอบบ่อหรือสระน้ำที่ลื่นมากขึ้น อาจทำให้เสี่ยงพลัดตกน้ำหรือจมน้ำเสียชีวิตได้

กรมควบคุมโรค จึงแนะนำประชาชนระวังการจมน้ำในช่วงมรสุม โดยไม่ควรลงไปเล่นน้ำบริเวณที่มีน้ำท่วมขังหรือน้ำเชี่ยว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก งดการเดินทางทางน้ำหรือกิจกรรมที่ไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำควรเตรียมอุปกรณ์ชูชีพให้พร้อม ควรสำรวจและเฝ้าระวังพื้นที่บริเวณบ้าน รอบบ้านและชุมชนที่เสี่ยงต่อการพลัดตกและจมน้ำ

ทุกคนในชุมชนเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประกาศเสียงตามสาย จัดการแหล่งน้ำให้ปลอดภัย สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน ให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง

สำหรับประชาชนที่อยู่ในบริเวณน้ำท่วมหรือใกล้แหล่งน้ำไม่ควรดื่มของมึนเมา เพราะอาจเกิดการพลัดตกน้ำได้ ส่วนผู้ประกอบอาชีพทางน้ำควรเตรียมความพร้อมสุขภาพร่างกาย ไม่ควรอยู่ตามลำพังแม้ว่ายน้ำเป็น โดยเฉพาะเด็กและผู้ที่มีโรคประจำตัวควรมีคนดูแลใกล้ชิดเสมอ

ที่สำคัญหากพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ โดยขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้ ตะโกน คือเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วย และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 โยน คือโยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว ช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว และยื่น คือยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ

เสนอนโยบายนักเรียนว่ายน้ำเป็น 100%

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธุ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เผยว่า จะเสนอที่ประชุมออกเป็นนโยบายเรื่องการส่งเสริมให้เด็กไทยว่ายน้ำเป็น 100% เนื่องจากพบว่าสถิติเด็กไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำในช่วงปิดภาคเรียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาแม้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะสนับสนุนให้โรงเรียนมีการสอนว่ายน้ำแก่นักเรียน แต่โรงเรียนก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง

จึงเห็นว่าต้องออกเป็นนโยบายและแนวปฏิบัติให้โรงเรียนไปดำเนินการ เพื่อให้โรงเรียนเห็นความสำคัญของการสอนว่ายน้ำ และสอนให้เด็กไทยว่ายน้ำเป็นเต็ม 100% อย่างไรก็ตาม หลักสูตรการสอนว่ายน้ำจะต้องไม่ใช่การสอนให้เด็กว่ายน้ำเป็นอย่างเดียว หรือสอนว่ายน้ำตามท่ามาตรฐาน แต่ต้องสอนให้เด็กมีทักษะการเอาตัวรอดในน้ำด้วย เช่น การฝึกลอยตัวในน้ำได้

“หาก กพฐ.ออกเรื่องนี้เป็นนโยบายจะทำให้ทุกโรงเรียนถือเป็นแนวปฏิบัติอย่างจริงจัง เด็กไทยจะสามารถว่ายน้ำได้ทุกคน หากทุกโรงเรียนดำเนินการอย่างจริงจัง จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กจากการจมน้ำได้” รศ.ดร.เอกชัยกล่าว

ประธาน กพฐ. กล่าวอีกว่า การออกนโยบายดังกล่าวจะไม่สร้างภาระให้แก่โรงเรียนว่าต้องสร้างสระว่ายน้ำ แต่ให้โรงเรียนบูรณาการใช้สระว่ายน้ำของชุมชน หมู่บ้าน หรือสโมสรในพื้นที่ต่าง ๆ โดยอาจทำเป็นข้อตกลงร่วมกันในราคาที่ไม่แพง และมีมาตรการทางภาษีเป็นเครื่องจูงใจภาคเอกชน

ส่วนโรงเรียนไหนในพื้นที่ไม่มีสระว่ายน้ำของชุมชนอาจประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้สร้างสระว่ายน้ำชุมชน หรือสร้างในโรงเรียนที่มีพื้นที่และให้บริการในโรงเรียนใกล้เคียง เชื่อว่าหากทำเป็นนโยบายโรงเรียนก็จะพยายามวิ่งหาหน่วยงานที่มีสระว่ายน้ำทันที

“เสนอแนะ”

ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2562 รศ.ดร.เอกชัย เผยหลังการประชุม กพฐ. ว่า ที่ประชุมมีมติเสนอแนะให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกเป็นนโยบายเด็กไทยว่ายน้ำเป็น 100% และไม่ควรนำมาผูกกับงบประมาณ โดยให้หาวิธีการในการคุยกับชุมชน สโมสรที่มีสระว่ายน้ำ หรือสระว่ายน้ำของเอกชนที่อยู่ใกล้เคียง แทนการทำเป็นโครงการในแต่ละปี ซึ่งใช้เงินเยอะมาก แต่มีเด็กเข้าร่วมโครงการไม่กี่คน

“วิธีการที่โรงเรียนจะดำเนินการตามนโยบายเด็กไทยว่ายน้ำเป็น 100% โดยขอความร่วมมือกับเอกชน เช่น สโมสรคิดค่อว่ายน้ำปกติต่อคน 30 บาท หากมีเด็ก 2,000 คน ว่ายน้ำ 2,000 ครั้งต่อปี ต้องจ่ายเงิน 60,000 บาท แต่ในความเป็นจริงเมื่อโรงเรียนทำข้อตกลงกับสโมสรจะคิดครั้งละ 10 บาทต่อคน ก็จะบริจาคเงินคืนโรงเรียนมา 40,000 บาท โรงเรียนออกใบเสร็จให้นำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เป็นเงิน 80,000 บาท ซึ่งจะทำให้เอกชนอยากเข้ามาสนับสนุนการศึกษา

ขณะเดียวกัน ควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หางบประมาณสร้างสระว่ายน้ำชุมชนให้เอกชนเข้ามาบริหารเพื่อเลี้ยงตนเองได้ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะส่งเสริมให้เด็กไทยว่ายน้ำเป้น 100%” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว

ประเทศไทยมี “วันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ”

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกคำสั่งเรื่อง การดำเนินงานกิจกรรมรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำช่วงภาคฤดูร้อนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ ซึ่งในปี พ.ศ.2564 ตรงกับวันเสาร์ที่ 6 มีนาคม และได้กำหนดแนวคิดหรือ Theme สำหรับการรณรงค์ในปีนี้คือ New Normal New Landmark “Drown No More” วิถีใหม่ พื้นที่ใหม่ ไม่เสี่ยงจมน้ำ

กระทรวงสาธารณสุข ขอให้หน่อยงานสาธารณสุขทุกแห่งมีการดำเนินงาน ดังนี้

  1. เชิญชวนให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำแบบออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ ป้องกันจมน้ำ.com
  2. ผลักดัน/สนับสนุนให้ชุมชน/โรงเรียน ร่วมกันสร้างศิลปะการมีส่วนรว่มของชุมชนตามแบบวิถีใหม่ เพื่อหาพื้นที่เล่นใหม่ให้กับเด็กที่ปลอดภัยจากโควิดและปลอดภัยจากการจมน้ำ
  3. สื่อสารประเด็นข้อมูลสำคัญสำหรับการรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำปี 2564
  4. ประชาสัมพันธ์และสื่อสารให้ประชาชนและเด็ก รู้กฎความปลอดภัยทางน้ำที่สำคัญ
  5. กรณีมีเหตุการณ์จมน้ำในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งเสียชีวิตและไม่เสียชีวิต ขอให้รายงานข้อมูลทุกรายผ่านระบบรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำ ทางเว็บไซต์ http://dip.ddc.moph.go.th/satdrowning เพื่อสามารถนำข้อมูลมาสื่อสารและวางแผนแก้ไขปัญหาในพื้นที่

อ่านคำสั่ง ฉบับเต็ม

จากข้อมูลที่รวบรวมมาทั้งหมดนี้ คาดว่าจะทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพว่า ประเทศไทยได้พยายามป้องกันปัญหาเด็กจมน้ำเสียชีวิต มากน้อยเพียงใด?