สจล.เปิดตัว ‘เอไอตรวจโควิดกลายพันธุ์’ พร้อมระบุพื้นที่พบเชื้อ

สจล.เปิดตัว ‘เอไอตรวจโควิดกลายพันธุ์’ พร้อมระบุตำแหน่งที่พบ และนำร่องทดลองใช้งานภายในห้องแล็บของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์แล้ว

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สจล. เปิดตัว “เอไอตรวจโควิดกลายพันธุ์” เพื่อช่วยทีมแพทย์ให้สามารถบ่งชี้เชื้อโควิด-19 ได้ถึง 8 สายพันธุ์  และสามารถตรวจตำแหน่งที่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้นำร่องทดลองใช้งานภายในห้องแล็บของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์แล้ว

รศ.ดร.ศิริเดช บุญแสง คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า จากกรณีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยจำนวนมาก ทั้งสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย และล่าสุดพบโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ในคลัสเตอร์ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งรักษาหายแล้วในเวลาต่อมา

รศ.ดร.ศิริเดช บุญแสง คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล.

สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับผลการวิจัยของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล. ที่พัฒนาเทคโนโลยี “เอไอตรวจโควิดกลายพันธุ์” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์ ซีร่า คอร์” (CiRA CORE) ที่จะช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1.ความสามารถในการบ่งชี้สายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 8 สายพันธุ์ อาทิ สายพันธุ์ B.1.1.7 จากอังกฤษ สายพันธุ์ B.1.351 จากแอฟริกาใต้ สายพันธุ์ B.1.1.28 (หรือ P1) จากบราซิล สายพันธุ์ B.1.617.1, B.1.617.2 และ B.1.617.3 จากอินเดีย สายพันธุ์ที่ระบาดในชุมชน B.1.36.16 จ.สมุทรสาคร ปทุมธานี และ กทม. เป็นการช่วยแพทย์ลดขั้นตอนการวิเคราะห์ แยกแยะ และคาดการณ์การกระจายตัวของสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisment

2.ตรวจตำแหน่งที่กลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการค้นหาตำแหน่งกลายพันธุ์ที่เป็นที่น่ากังวล (Variant of Concern; VOCs) ซึ่งมีความถูกต้องถึง 99% ใน 30 วินาที

ทั้งนี้ เอไอดังกล่าวเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับ ดร.วีรยุทธ กิตติชัย อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ สจล., ผศ. ดร.สันทัด ชูวงค์อินทร์ หัวหน้าศูนย์หุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติ (CiRA) วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สจล.,

ดร.จักรพันธุ์ รุณเจริญ – ดร.อินทรี เสนสอน – ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, และนางสาวทัชชา ยิ้มถิน อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยคณะทำงานพร้อมถ่ายทอดนวัตกรรมแก่หน่วยงานที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล.

Advertisment

รศ. ดร.ศิริเดช อธิบายต่อว่า ขั้นตอนการวิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการค้นหาตำแหน่งกลายพันธุ์ VOCs ด้วยเอไอ ช่วยหนุนแพทย์ลดขั้นตอนการวิเคราะห์ให้เหลือเพียง 3 ขั้นตอน ได้แก่

  1. นำข้อมูลสารพันธุกรรมทั้งหมด หรือจีโนมที่ได้ทั้งแบบเดี่ยว หรือแบบหลาย ๆ จีโนมพร้อมกัน เข้าไปประมวลผลในโปรแกรมเอไอ (input data)
  2. ทำการวิเคราะห์ผล
  3. ทำการแสดงผลในรูปแบบชื่อของสายพันธุ์ และหากพบเชื้อกลายพันธุ์จะแสดงผลเป็นสีแดง พร้อมแสดงตำแหน่งกลายพันธุ์ (VOCs) บนจีโนม แต่หากไม่พบเชื้อจะเป็นสีเทา

เป็นผลมาจากกระบวนการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) ของเอไอในข้อมูลรหัสพันธุกรรมของเชื้อโควิดที่มีจีโนมถึง 30,000 ตำแหน่ง จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมของจุลชีพ GISAID (https://www.gisaid.org/) จึงทำให้เอไอสามารถแยกแยะตำแหน่งโควิดกลายพันธุ์ (VOC) และสามารถบ่งชี้เชื้อโควิดกลายพันธุ์ได้หลายสายพันธุ์ได้

ปัจจุบันได้มีการนำร่องทดลองใช้งานเอไอตรวจโควิดกลายพันธุ์ภายในห้องแล็บของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในการใช้ตรวจตำแหน่งกลายพันธุ์ของโควิด-19 (VOCs) โดยบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ทั้งนี้ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่หน่วยงานที่สนใจ และอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรร่วมกันระหว่างหน่วยงาน

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ยังคงต้องตรวจคัดกรองผู้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ รักษาผู้ติดเชื้อ พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนักวิจัยไทยยังต้องเร่งคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือจำนวนมาก เช่นเดียวกับ สจล. ที่พัฒนาและส่งต่อความช่วยเหลือแก่ทีมบุคลากรทางการแพทย์นับตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล.

อีกทั้งล่าสุดได้เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 สจล. จุดบริการวัคซีนภายนอกโรงพยาบาล ฝั่งกรุงเทพตะวันออก สำหรับนักศึกษาและบุคลากร สจล. รวมถึงบุคคลคนที่บริการสาธารณะ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้รับโควตาจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อให้สถาบันมีความพร้อมในการเปิดทำการเรียนการสอนแบบปกติได้โดยเร็วที่สุด