“ม.กรุงเทพ” ชูหลักสูตรใหม่ สร้างนักวางแผนการเงิน-การลงทุน

ในยุคที่ผู้คนรู้จักการลงทุนกันอย่างแพร่หลาย และมองว่าการลงทุนคือหนทางสร้างความมั่งคั่ง มากกว่าการออมในรูปแบบเงินฝากเช่นแต่ก่อน แต่กระนั้น ถ้าจะนึกถึงบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการวางแผนด้านการเงิน พร้อม ๆ กับช่วยวิเคราะห์ทางด้านการเงิน เพื่อให้การลงทุนเกิดประโยชน์สูงสุด ก็นับว่าหายากอยู่พอสมควร

ผลเช่นนี้จึงทำให้สหรัฐอเมริกากำเนิดวิชาชีพ นักวางแผนการเงิน การลงทุน ทั้งยังมีกำหนดเกณฑ์เพื่อสร้างมาตรฐานแก่วิชาชีพนี้ขึ้นมา โดยผู้ที่จะทำงานสายนี้จะต้องสอบใบอนุญาตวิชาชีพ CFP (Certified Financial Planner) ซึ่งในไทยเองมีความตื่นตัว และตระหนักในด้านองค์ความรู้ด้านการเงิน การลงทุนนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว เห็นได้จากการก่อตั้งสมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TFPA) ขึ้นมา เพื่อดูแลด้านการอบรม จัดสอบใบอนุญาตดังกล่าว

แต่ทั้งนี้จำนวนผู้ที่สอบผ่านใบอนุญาตวิชาชีพยังมีอยู่ค่อนข้างน้อย คือประมาณ 200 คน ขณะที่กระแสความต้องการนักวางแผนการเงิน และการลงทุนมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงมองเห็นโอกาส และความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ จึงได้พัฒนาหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการวางแผนการเงิน และการลงทุน (Financial & Investment Planning) ขึ้นมา

“ผศ.ดร.ศุภเจตน์ จันทร์สาส์น” ผู้อำนวยการหลักสูตรการวางแผนการเงินและการลงทุน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการวางแผนการเงิน และการลงทุน เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาของหลักสูตรจะเรียน 5 ด้านหลัก ที่จำเป็นสำหรับอาชีพนักวางแผนการเงิน การลงทุน คือ

หนึ่ง การวางแผนการลงทุน เรียนรู้การลงทุนรูปแบบต่าง ๆ ทั้งหุ้น กองทุน ตราสารหนี้ ฯลฯ เพื่อให้ทราบว่าการลงทุนแต่ละประเภทเหมาะสมกับสภาวการณ์แบบไหน มีผลตอบแทนและความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่ผู้ลงทุน

สอง การวางแผนด้านประกัน เนื่องจากประกันเป็นการลงทุนทั้งในรูปแบบหลักประกัน และเงินออม ซึ่งมีเรื่องสิทธิประโยชน์ ภาษี เข้ามาเกี่ยวข้อง

สาม การวางแผนด้านการเกษียณ เป็นการวางแผนด้านการเงินให้มีเงินใช้ในช่วงวัยเกษียณ ทั้งผ่านการออม และการลงทุน โดยมีการคิดคำนวณเพื่อให้ปฏิบัติตามแผนตั้งแต่ช่วงวัยทำงาน

สี่ การวางแผนภาษี ช่วยในการคิดคำนวณภาษี และการประหยัดภาษี

ห้า การวางแผนมรดก เรื่องการจัดการทรัพย์สิน

“ทั้ง 5 ด้านจะใช้เป็นองค์ความรู้ในการวางแผนการเงินแบบเฉพาะบุคคลแบบรอบด้าน เพราะหลักสูตรนี้เหมือนการนำองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการวางแผนการลงทุนมารวบไว้ด้วยกัน ทั้งเศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ และบัญชี ซึ่งมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้พัฒนาหลักสูตรร่วมกับสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสถาบันการเงิน เพื่อให้หลักสูตรตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานมากที่สุด”

“ผศ.ดร.ศุภเจตน์” กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น ขณะที่นักศึกษากำลังเรียนหลักสูตรนี้ ยังสามารถไปสอบใบรับรองวิชาชีพ CFP โดยไม่จำเป็นต้องเข้าอบรมซ้ำอีก เนื่องจากรายวิชาที่ศึกษาจะเป็นไปตามลำดับการอบรมของสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ทำให้ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายค่าอบรมรายวิชา ที่คิดรายวิชาละ 10,000 บาท รวมทั้งสิ้น 6 หมวดวิชา ทั้งยังช่วยย่นระยะเวลาจากการต้องเข้าอบรมถึง 40 ชม. ซึ่งจะกลายเป็นวิชาเรียนตามหลักสูตรภายใน 4 ปีแทน

“ดังนั้นเมื่อนักศึกษาสอบผ่าน สามารถพร้อมทำงานได้เลย หรือหากนักศึกษาสอบผ่านไปได้ครึ่งทางจะได้รับใบรับรอง AFPT (Assistant Financial Planner Thailand) เพื่อปฏิบัติงานในระดับผู้ช่วยนักวางแผนการลงทุน แต่ในระหว่างที่เรียนนักศึกษาจะต้องสอบ IC License (Investment Consultant) สามารถทำงานในธุรกิจการเงินได้ ส่วนในระดับสากลคือ CFP จะถูกผลักดันให้ไปสอบทุกปี”

หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการวางแผนการเงินและการลงทุน นับว่าเป็นสาขาแรก และสาขาเดียวในประเทศไทยในขณะนี้ โดยมีการเรียนการสอนในระบบสองภาษา เพื่อเอื้อแก่นักศึกษาให้มีความแม่นยำด้านภาษาสำหรับทำงานในต่างประเทศ โดยจะเปิดรับนักศึกษาปีละ 40 คน อัตราค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 4 ปี อยู่ที่ 400,000 บาท โดยเทอมสุดท้ายจะเป็นการฝึกงานกับสถาบันการเงินเพื่อสร้างประสบการณ์การทำงานจริง

ทั้งนั้นเมื่อจบหลักสูตรสามารถสร้างความมั่นใจให้แก่องค์กรในด้านความรู้ ความเข้าใจด้านการเงิน การลงทุนเป็นอย่างดี อีกทั้งยังต่อยอดไปสู่สายอาชีพอื่น ๆ ที่นำทักษะด้านการเงินและการลงทุนมาเป็นจุดแข็งในการทำงาน เช่น ตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker), นักวิเคราะห์หลักทรัพย์, ผู้จัดการกองทุน, นักวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเงิน, วาณิชธนากร (Investment Banker) และนักวิเคราะห์สินเชื่อได้อีกด้วย