3 มหา’ลัยเอกชนยังเนื้อหอม นักศึกษาจีนสมัครเรียนกว่าพันคนไม่สนโควิด

โควิดไม่ระคาย มหา’ลัยเอกชนไทยยังเนื้อหอม น.ศ.จีนแห่สมัครเรียน ป.ตรี-โท-เอก คึกคัก “ธุรกิจบัณฑิตย์-ม.รังสิต-กรุงเทพธนบุรี” ย้ำ น.ศ.จีนเชื่อมั่นระบบการศึกษาไทย พร้อมเตรียมแผนเปิดเทอมเป็นทางการ พ.ย.นี้ เพิ่มมาตการพิเศษกำหนดจำนวนคนเข้าเรียนลดความเสี่ยง ด้าน ก.อว.เตรียมออกกฎดูแลคุณภาพเรียนออนไลน์

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรม และการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระบาดของโควิด-19 ไม่ส่งผกระทบต่อนักศึกษาจีนที่มาเรียนที่ มธบ. เพราะมีการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ต่อเนื่อง ตั้งแต่ 100-1,000 คน และไม่พบนักศึกษาเดิมลาออกแต่อย่างใด เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในหลักสูตรการเรียนของมหาวิทยาลัย แม้จะเรียน และสอบผ่านออนไลน์ 100%

ในขณะนี้ ส่วนการเรียนภาคปฏิบัติ ใช้วิธี “โยก” ไปเรียนช่วงท้ายเทอมที่คาดว่าสถานการณ์การระบาดจะคลี่คลายลงแล้ว รวมถึงสอบรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด

สำหรับข้อกังวลด้านคุณภาพการเรียนต้องยอมรับว่าในภาวะที่ไม่ปกติกระทบแน่นอน ฉะนั้นอธิการบดี มธบ. (ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์) จึงมีนโยบายว่าอาจารย์ต้องมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น หากนักศึกษามีปัญหาด้านการเรียน หรือปัญหาอื่นช่วงที่เรียนในมหาวิทยาลัย อาจารย์ต้องแนะนำวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ทันที และที่ผ่านมา มธบ.เตรียมเปิดการเรียนการสอนตามปกติ (onsite)

พร้อมผนวกมาตรการพิเศษด้วยการกำหนดจำนวนนักศึกษาต้องไม่เกิน 20-25 คนต่อคลาส อาจารย์แต่ละภาควิชาต้องตรวจเช็กการเข้าเรียนต่อเนื่อง จากมาตรการดังกล่าวทำให้นักศึกษาจีนและไทยยังสนใจสมัครเรียนเพิ่ม โดยเฉพาะปีในปี 2564 ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน (เฉพาะนักศึกษาใหม่) เพิ่มขึ้นเทียบกับปี 2563 อยู่ที่ 800 คน และปี 2562 ที่ 700 คน

“ไม่เพียงแต่วิธีการเรียนการสอนที่ดีแล้ว มธบ.ยังพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษาด้วยส่งผลให้ได้รับการยอมรับจากนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้น มีนักศึกษาจีนใน มธบ.สะสม ราว 3,000 คน

ด้วยคุณภาพการเรียนการสอน คุณภาพหลักสูตรที่กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรมมีการรับรองมาตรฐานแล้ว ทั้งการสร้างคน เราไม่ได้ให้แค่ความรู้เฉพาะทางแต่ให้ความรู้เพิ่มแบบที่ตลาดงานต้องการ เพื่อให้นักศึกษาเรียนจบแล้วมีงานทำทันที”

ด้าน ดร.กัญจน์นิตา สุเชาว์อิน คณบดีวิทยาลัยนานาชาติจีน และรองผู้อำนวยการสถาบันไทย-จีนมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า แม้จะสอนด้วยระบบออนไลน์ 100% อย่างเช่น เทอม 1 ปีการศึกษา 2564 ก็ยังมีนักศึกษาจีนเข้ามาสมัครเรียน

ประมาณ 250 คน และในเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ จะเปิดการเรียนการสอนปกติ และมีการวางแผนจัดตารางสำหรับนักศึกษาภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยยึดตามมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในสถาบันการศึกษา

ขณะที่ ดร.โอฬาร กาญจนากาศ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (BTU) กล่าวว่า ในปี 2564 มีนักศึกษาจีนสนใจสมัครเรียนมากขึ้น ทั้งในระดับปริญญาตรี, ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยเฉพาะในสาขาบริหารการศึกษา ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ที่สมัครเข้ามาเรียนต่อ เพื่อปรับวิทยฐานะ รวมกว่า 400 คน โดย BTU มีนักศึกษาจีนรวมทั้งสิ้น 1,600 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เดิมรูปแบบการเรียนการสอนทุกระดับ ไม่มีกฎหมายรองรับ และการกำกับดูแล ล่าสุดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

จึงดำเนินการร่างประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และโดยวิธีอื่น พ.ศ. 2564 อาศัยความในมาตรา 6

และมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา และมาตรา 59 พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ว่าด้วยแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระดับรายวิชา ระดับปริญญาทุกสาขาวิชา ต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กระทรวงกำหนด

ในหลักการคือ ไม่ว่าเรียนจบด้วยวิธีการ ต้องมีคุณภาพภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ใน 2 ระดับ คือ 1.ระดับหลักสูตรพิจารณาจากจำนวนรายวิชาที่มีการเรียนการสอนเกินกว่า “กึ่งหนึ่ง” ของจำนวนหน่วยกิตในหลักสูตร

ถือเป็นการเรียนออนไลน์จึงต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์เงื่อนไข 5 มิติ ประกอบด้วยศาสตร์การสอน, การออกแบบเนื้อหา, การออกแบบกิจกรรมการเรียน, การออกแบบการวัด และประเมินผล 2.ระดับรายวิชาพิจารณาจากการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ตามคำนิยามของการเรียนรู้ออนไลน์ หากจัดการศึกษาผ่านออนไลน์เกิน 40% ของเนื้อหา กิจกรรมและการประเมินผล