อว. ลุยยกระดับมหาวิทยาลัย ตอบโจทย์ BCG – อุตสาหกรรมใหม่ประเทศ

อว.เตรียมยกระดับมหาวิทยาลัยตามความเชี่ยวชาญ ให้ตอบโจทย์ BCG และอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ หลังจุฬาฯ -มหิดล -เกษตรศาตร์ และอีกหลายแห่ง ติดอันดับดับโลกใน THE (Times Higher Education) Impact Rankings 2021 เชื่อเป็นดัชนีชี้วัด ช่วยให้เกิดการตัดสินใจลงทุนจากต่างประเทศ

วันที่ 7 ตุลาคม 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ผลของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกใน THE (Times Higher Education) Impact Rankings 2021 ที่ใช้วัดความสำเร็จของมหาวิทยาลัยทั่วโลก ในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ (UN) ปรากฎว่ามหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับโลก และถือเป็นดัชนีชี้วัดประเทศที่ช่วยให้เกิดการตัดสินใจลงทุนจากต่างประเทศนั้น ทำให้ อว.ได้เตรียมยุทธศาสตร์ในการพลิกโฉมหรือยกระดับมหาวิทยาลัยตามความเชี่ยวชาญ

โดยมีการแบ่งกลุ่มตามความถนัดและศักยภาพ เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างก้าวกระโดดและตอบโจทย์ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ BCG และกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ระบบโลจิสติกส์ ระบบราง ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ เทคโนโลยีในอนาคต เช่น เทคโนโลยีการคำนวณเชิงควอนตัม หรือเทคโนโลยีอวกาศ เป็นต้น

รมว.อว. กล่าวต่อว่า การพลิกโฉมหรือยกระดับมหาวิทยาลัย เนื่องจากมหาวิทยาลัยของไทยจำนวนหนึ่งมีพื้นฐานที่ดีในการทำงานที่ตอบโจทย์ของประเทศรวมทั้งความยั่งยืนที่กำหนดโดยสหประชาชาติ ดังที่เห็นได้จากมีหลายมหาวิทยาลัยติดลำดับต้น ๆ ของโลกในหลายเป้าหมายจาก THE Impact Rankings

อย่างไรก็ตามในด้านความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยไทยจำเป็นที่จะต้องทำการบ้านเพื่อยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้นอีก มหาวิทยาลัยไทยหลาย ๆ แห่งมีศักยภาพพื้นฐานในหลายสาขาวิชาซึ่งมีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งติดอันดับโลกในหลายสาขา เช่น วิศวกรรมปิโตรเลี่ยมติดอันดับที่ 51-100 รวมถึงการแพทย์ หรือรัฐศาสตร์ เป็นต้น

ม.มหิดล มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะในสาขาทางด้านการแพทย์ติดอันดับที่ 116 ของโลก และวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น เภสัชศาสตร์และเภสัชวิทยา กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา เป็นต้น

ม.เกษตรศาสตร์ มีจุดเน้นทางด้านเกษตรและอาหาร ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 63 ของโลกทางด้านเกษตรและป่าไม้และมีเป้าหมายที่จะไปสู่อันดับที่ต่ำกว่า 40 ของโลกในอนาคต

ส่วน ม.เชียงใหม่ มีความเชี่ยวชาญทางด้านเกษตรและป่าไม้ เภสัชศาสตร์และเภสัชวิทยา และวัสดุศาสตร์ ขณะที่ ม.ขอนแก่น มีความเชี่ยวชาญทางด้านเกษตรและป่าไม้ เภสัชศาสตร์และเภสัชวิทยาเช่นเดียวกัน ด้าน ม.สงขลานครินทร์ มีความถนัดทางด้านเกษตรและป่าไม้ และการแพทย์ เป็นต้น และมหาวิทยาลัยหรือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าทั้ง 3 แห่งที่มีจุดเด่นในด้านวิศวกรรมศาสตร์หลายสาขา

ทั้งนี้ ดร.เอนก กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่มีสาขาวิชาที่มีจุดเด่น แต่อย่างไรก็ตามยังมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับมหาวิทยาลัยเหล่านี้ให้มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญของ อว. ในการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย การพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นกระบวนการที่ไม่หยุดนิ่งและต้องทำแบบก้าวกระโดด เพราะหากช้าก็จะกลายเป็นถอยหลัง เนื่องจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั่วโลกมีพัฒนาการที่รวดเร็ว